คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับมรดกที่นาที่ พ. นำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินโจทก์ ให้จำเลยใช้หนี้ที่ พ. เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นคำพิพากษาที่ให้จำเลยรับผิดใช้หนี้แก่โจทก์โดยเหตุที่จำเลยเป็นทายาทผู้ได้รับมรดกของ พ. จำเลยจึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ จำเลยจะอ้างว่าจะยึดทรัพย์ของจำเลยไม่ได้ก็แต่ในกรณีที่จำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกใด ๆของ พ. เท่านั้น แต่ตามคำร้อง ของ จำเลยไม่ได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในการขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด เมื่อจำเลยต้องรับผิดในหนี้เงินกู้ที่ พ. ต้องชำระต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นของตนเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ จำเลยและผู้ร้องที่ 2 เป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินพิพาท ไม่อาจขอให้ปล่อยทรัพย์สินดังกล่าวได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจกาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายแพง ฝาชัยภูมิ ผู้ตาย ใช้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่นายแพง ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้รับมรดกที่นาที่นายแพงนำมาเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินให้จำเลยใช้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ ผู้ร้องทั้งสองคือ จำเลยและนายหนูแดง ฝาชัยภูมิ สามียื่นคำร้องว่า ที่ดิน 2 แปลง มิใช่เป็นทรัพย์สินในกองมรดกนายแพงผู้ตาย ขอให้ปล่อยทรัพย์สินดังกล่าวที่โจทก์นำยึด
โจทก์ให้การว่า ที่ดิน 2 แปลงตามคำร้องของผู้ร้องเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายแพง เนื่องจากผู้ร้องทั้งสองได้ที่ดินมาโดยการยื่นคำขอโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2520 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่นายแพงผู้ตายซึ่งเป็นบิดาจำเลย(ผู้ร้องที่ 1) เป็นหนี้โจทก์เป็นความรับผิดของนายแพง อันเป็นมรดกตกทอดได้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทจำเลยต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวต่อโจทก์ เพียงแต่ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่จำเลยเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้ที่ได้รับมรดกที่ดินนาที่นายแพงนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินโจทก์ ให้จำเลยใช้หนี้ที่นายแพงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นคำพิพากษาที่ให้จำเลยรับผิดใช้หนี้แก่โจทก์โดยเหตุที่จำเลยเป็นทายาทผู้ที่ได้รับมรดกของนายแพง จำเลยจึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ จำเลยจะอ้างว่าจะยึดทรัพย์ของจำเลยไม่ได้ก็แต่ในกรณีที่จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกใด ๆ ของนายแพงเท่านั้นแต่ตามคำร้องของจำเลยไม่ได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในการขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด ดังปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดเป็นของจำเลย โดยนายแพงยกให้ก่อนที่นายแพงถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินในกองมรดกดังนี้แม้จะได้ความตามคำร้องของจำเลย แต่เมื่อจำเลยต้องรับผิดในหนี้เงินกู้ที่นายแพงต้องชำระต่อโจทก์แล้วโจทก์ก็ย่อมมีสิทธินำยึดที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นของตน เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ จำเลยและผู้ร้องที่ 2 เป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินพิพาท จึงไม่อาจขอให้ปล่อยทรัพย์สินดังกล่าวได้”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง.

Share