คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3964/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการปิโตรเลียมตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือโจทก์ที่ถูกเพิกถอน ใบอนุญาตทำงานนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องอ้างเหตุที่ทำให้การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ว่า โจทก์ได้ทำการถูกต้องตามคำสั่งของจำเลยจำเลยจึงไม่อาจยกเอา เหตุที่กรมทรัพยากรธรณีเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของโจทก์มาเป็นเหตุ เลิกจ้าง โจทก์หาได้อ้างพฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ช่วยเหลือโจทก์ ดังที่ยกขึ้นอุทธรณ์เป็นเหตุสนับสนุนข้อหาตามฟ้องไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุว่าเพราะโจทก์ถูกเพิกถอนการอนุญาต ให้พำนักอยู่ในประเทศไทย หาใช่เนื่องจากโจทก์กล่าวคำดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นกรณีที่ร้ายแรงไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จำเลยต้องจ่าย ค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยจ่ายค่าทำงานนอกประเทศ ค่าครองชีพและค่าบริการให้แก่โจทก์ เป็นประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือน ค่าทำงานนอกประเทศ ค่าครองชีพและค่าบริการดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย ส่วนค่าที่พักอาศัยนั้น เป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้าง มีลักษณะเป็นสวัสดิการ ในเรื่องที่พักอาศัย มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานจึงไม่เป็นค่าจ้างค่าภาษีตามแบบเสมอภาคและค่าเบี้ยประกันภัยเป็นค่าใช้จ่ายที่หักจาก รายได้ของโจทก์ มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างย่อมไม่เป็นค่าจ้าง เช่นเดียวกัน ภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่ง แก่โจทก์ โดยเงินจำนวนนี้มีค่าเลิกจ้างจำนวนหนึ่งรวมอยู่ด้วยค่าเลิกจ้าง เป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทอื่นที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นค่าชดเชย ต้องนำเงินจำนวนนี้มาหักออกจากค่าชดเชย ที่จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์ การที่โจทก์ถูกถอนใบอนุญาตทำงานและถูกสั่งให้ออกนอกประเทศ เนื่องจากโจทก์กล่าวคำผรุสวาทต่อเจ้าพนักงานนั้นหาทำให้สัญญาจ้างแรงงาน ระหว่างโจทก์จำเลยกลายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายไม่ แต่เป็นเรื่องโจทก์ไม่อาจทำงานให้จำเลยได้ต่อไป การชำระหนี้ของฝ่ายโจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยด้วยเหตุอันจะโทษโจทก์ได้ จำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาโดยเลิกจ้างโจทก์ได้ แต่จำเลยก็ต้องจ่ายเงินเดือน ค่าครองชีพ จนถึงวันเลิกจ้าง และจ่ายค่าชดเชยเมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงิน ดังกล่าวและได้รับเงินเดือนค่าครองชีพกับค่าชดเชยบางส่วน จึงมิใช่รับไว้ โดยไม่มีมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้จึงไม่ต้องคืนให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาต่อมาโจทก์ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน จำเลยจึงยกเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย การเลิกจ้างทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานจ่ายค่าจ้างระหว่างถูกเลิกจ้าง จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงโดยโจทก์ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โจทก์ถูกเพิกถอนสิทธิในการพำนักในราชอาณาจักร และถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทำงานจำเลยจึงมีความจำเป็นไม่อาจจ้างโจทก์ทำงานในประเทศไทยต่อไปอีกได้และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าค่าจ้างที่โจทก์ได้รับนอกจากเงินเดือนเป็นเพียงเงินช่วยเหลือการครองชีพเป็นครั้งคราว เป็นเงินสวัสดิการชั่วคราวมิใช่ค่าจ้าง เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ภายหลังการเลิกจ้างเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปด้วยความสำคัญผิด โจทก์ต้องคืนเงินดังกล่าว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้โจทก์ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน เป็นการกระทำที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ได้รับผลร้ายจากการกระทำดังกล่าวจำเลยไม่ช่วยเหลือโจทก์ โดยไม่อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนดังกล่าวและจำเลยไม่ส่งโจทก์ไปทำงานกับบริษัทในเครือของจำเลยในต่างประเทศ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เมื่อปรากฏว่าฟ้องโจทก์ได้อ้างเหตุที่ทำให้เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมว่า โจทก์ได้ทำการถูกต้องตามคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเหตุที่กรมทรัพยากรธรณีเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของโจทก์มาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง โจทก์หาได้อ้างพฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ช่วยเหลือโจทก์ดังที่ยกขึ้นอุทธรณ์เป็นเหตุสนับสนุนข้อหาตามฟ้องไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงมีข้อความว่าบริษัทจำเลยอาจว่ากล่าว ตัดค่าจ้าง ให้พักงาน หรือปลดออก ลูกจ้างคนใดผู้ซึ่งก่ออาชญากรรมรวมถึงละเมิดข้อห้ามทางศีลธรรมหรือกระทำการอื่นใด หรือกระทำสิ่งใดที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กิจการหรือชื่อเสียงของบริษัท แต่จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์โดยระบุว่าโจทก์ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทย หาใช่เนื่องจากโจทก์กล่าวคำดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ค่าทำงานนอกประเด็นเป็นเงินซึ่งจ่ายตอบแทนการทำงาน ส่วนที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพและค่าบริการแก่โจทก์ก็แสดงว่าค่าจ้างที่กำหนดไว้เดิมไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพและค่าบริการที่เพิ่มขึ้น จำเลยจ่ายค่าทำงานนอกประเทศ ค่าครองชีพและค่าบริการให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือน ค่าทำงานนอกประเทศ ค่าครองชีพและค่าบริการจึงเป็นค่าจ้างต้องนำมาคำนวณเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย ส่วนค่าที่พักอาศัยนั้นเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้าง มีลักษณะเป็นสวัสดิการในเรื่องที่พักอาศัยมิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานจึงไม่เป็นค่าจ้างสำหรับค่าภาษีเสมอภาคและค่าเบี้ยประกันภัย เป็นค่าใช้จ่ายที่หักจากรายได้ของโจทก์ มิใช่เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง ย่อมไม่เป็นค่าจ้าง

ภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้โจทก์ซึ่งมีเงินค่าเลิกจ้างจำนวนหนึ่งรวมอยู่ด้วย ค่าเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทอื่นที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นค่าชดเชย จึงต้องนำเงินจำนวนนี้มาหักออกจากค่าชดเชยที่จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์ด้วย

การที่โจทก์ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานและถูกสั่งให้ออกนอกประเทศเนื่องจากโจทก์กล่าวคำผรุสวาทต่อเจ้าพนักงานนั้น หาทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยกลายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ไม่ แต่เป็นเรื่องโจทก์ไม่อาจทำงานให้จำเลยได้ต่อไป การชำระหนี้ของโจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยด้วยเหตุอันจะโทษโจทก์ได้ตามมาตรา 389 ซึ่งทำให้จำเลยมีสิทธิจะเลิกสัญญาเสียได้เท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2526 จำเลยก็ต้องจ่ายเงินเดือนนค่าครองชีพ อันเป็นค่าจ้างจนถึงวันดังกล่าวให้แก่โจทก์ มิใช่โจทก์รับไว้โดยไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ หาต้องคืนแก่จำเลยตามฟ้องแย้งไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ขาดจำนวนแก่โจทก์

Share