แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญานั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็มีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานจำเลยอีกต่อไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่กลับรับสารภาพตามฟ้องในวันนัดสืบพยานจำเลยก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาจำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพ แล้วให้การใหม่เป็นปฏิเสธ ซึ่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 3 เดือนลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยไม่สืบพยานจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง…” ดังนี้แสดงว่าในคดีอาญานั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ศาลก็มีอำนาจจะพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานจำเลยอีกต่อไป และโดยเฉพาะคดีนี้ จำเลยก็ได้เคยแถลงไม่สืบพยานจำเลยไว้แล้ว กรณีจึงไม่สมควรต้องให้มีการสืบพยานจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.