แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่พิพาทได้ระบุรายละเอียดแสดงยอดขายและภาษีขาย แสดงยอดซื้อและภาษีซื้อ แสดงการคำนวณภาษีและการสรุปยอดรวมภาษีที่ต้องชำระ นอกจากนี้ด้านหลังหนังสือแจ้งการประเมินได้ระบุเหตุผลที่ประเมินว่ายอดขายที่แสดงไว้ต่ำไป และระบุว่ามียอดซื้อที่เสียภาษีแล้วโดยนำภาษีซื้อต้องห้ามมาถือเป็นเครดิต และตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ได้ระบุเหตุผลที่วินิจฉัยไว้แล้วหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จึงมีเหตุผลที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายอ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับเดือนภาษีสิงหาคม 2544 เป็นเงินจำนวน 128,718.07 บาท (ที่ถูกคือ 128,718 บาท) เดือนภาษีกันยายน 2544 เป็นเงินจำนวน 229,178.84 บาท (ที่ถูกคือ 229,178 บาท) และเดือนภาษีตุลาคม 2544 เป็นเงินจำนวน 205,062.10 บาท (ที่ถูกคือ 205,068 บาท) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 562,965.04 บาท (ที่ถูกคือ 562,964 บาท) โดยอ้างในหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 88, 88/2, 88/5, และ 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ขอแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (3) (4) (10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเหตุผลและข้อเท็จจริงประกอบให้โจทก์เข้าใจ ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 3, 5 และ 37 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว แต่โจทก์มีภาษีชำระเกินเหลืออยู่ จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีตามประเมิน คงให้โจทก์ชำระเฉพาะเบี้ยปรับซึ่งพิจารณาเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย รวมเป็นเงินจำนวน 142,626.28 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามรายการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินที่อ้างว่าเอกสารภาษีซื้อเดือนภาษีสิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2544 ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีเพราะใบกำกับภาษีมีชื่อและที่อยู่ของโจทก์ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับรายการที่จดทะเบียน ใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ออกให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระเงินค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์จริง แม้ในประมวลรัษฎากรจะบัญญัติถึงความไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของใบกำกับภาษีซึ่งหมายถึงจำนวนเงินไม่ถูกต้องหรือตัวผู้ชำระภาษีที่ไม่ประจักษ์ว่าเป็นใคร แต่กรณีของโจทก์เป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้องไม่ใช่ใบกำกับภาษีเท็จ สามารถรับฟังได้ว่าผู้ที่ชำระภาษีตามใบกำกับภาษีคือโจทก์มิใช่บุคคลอื่นและจำเลยก็ได้รับชำระภาษีตามใบกำกับภาษีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยครบถ้วน ใบกำกับภาษีดังกล่าวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกให้โจทก์ และลงชื่อโจทก์ถูกต้องแต่ตกคำว่า “มหาชน” ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญที่ทำให้เห็นเป็นบริษัทอื่น โจทก์ไม่ใช่ผู้ทุจริตเอาเอกสารปลอมมาใช้ สำหรับค่าไฟฟ้าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการเกษตรทำสินค้าการเกษตรส่งต่างประเทศ เพื่อนำผลผลิตเข้าโรงงานผลิตเป็นผลไม้กระป๋อง มีการจดทะเบียนสาขาของโจทก์ในส่วนที่เป็นโรงงานผลิต โจทก์ชำระค่าไฟฟ้าที่ใช้จริงและได้รับใบกำกับภาษีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกให้ โดยระเบียบการออกใบกำกับภาษีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีโดยระบุสถานที่ใช้ไฟฟ้าจริง ไม่ได้ออกตามที่อยู่ของผู้จ่ายเงิน ใบกำกับภาษีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงปรากฏชื่อสถานที่ตรงจุดที่ใช้ไฟฟ้าจริง โจทก์มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ใบกำกับภาษีจึงระบุชื่อโจทก์ตามที่จดทะเบียนในคราวนั้น ๆ โจทก์เป็นผู้ชำระภาษีจริงได้รับใบกำกับภาษีไว้ในครอบครองเป็นหลักฐานในการขอรับภาษีซื้อคืน จำเลยสามารถตรวจสอบผู้ออกใบกำกับภาษีได้ว่าออกให้แก่ผู้ใด และทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีบันทึกยืนยันว่าจะออกใบกำกับภาษีตามที่เป็นสถานที่ใช้ไฟฟ้าและมีหนังสือยืนยันผู้ชำระเงินค่าไฟฟ้าที่ถูกต้อง แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาหนังสือดังกล่าวและมิได้หยิบยกคำสั่งของจำเลย ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร ว่ากรณีชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อหรือผู้รับบริการไม่ครบถ้วนไม่เป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการอื่นให้ถือว่าครบถ้วน มาให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ หนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เนื่องจากไม่มีเหตุผลให้ประชาชนทราบอย่างชัดแจ้งว่าเหตุใดจึงต้องชำระภาษีและเบี้ยปรับ และเงินส่วนใดที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อ้างว่ามีภาษีชำระเกินที่เหลืออยู่จึงไม่ต้องชำระภาษีตามที่ถูกประเมิน ทำให้โจทก์สำคัญผิดว่าไม่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน จึงขาดข้อเท็จอันเป็นสาระสำคัญ ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจเป็นการกระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคล ไม่เข้ากรณีต้องรักษาไว้เป็นความลับ และเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ไม่ใช่ภาษีชำระเกินของโจทก์ โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยง ไม่ควรต้องชำระเบี้ยปรับ ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ. 73.1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 และจดทะเบียนสาขา 1 แห่ ตั้งอยู่เลขที่ 363 ถนนนิคมสาย 13 ตำบลมาบข่า อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันที่สำนักงานใหญ่ วันที่ 17 พฤษภาคม 2537 โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 75/105 อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ 2 ชั้น 38 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานของจำเลยออกตรวจปฏิบัติการทั่วไปสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2544 ปรากฏว่าโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีตามที่โจทก์ยื่นคำขอไว้ และจากการตรวจสอบพบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงรายการยอดขายภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ และมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ขอคืนภาษีที่ชำระเกินเป็นเงินสด จำเลยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2544 ให้โจทก์ก่อนการตรวจสอบ จากการตรวจสอบสำเนาใบกำกับภาษีขายกับรายงานภาษีขาย โจทก์จำหน่ายจ่ายโอนสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีการเบิกจ่ายสินค้าเพื่อการจัดกระเช้าและรับรองแขก มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบอันเกิดจากการตรวจนับของโจทก์ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องลงรายการในรายงานภาษีขายโดยไม่ต้องออกใบกำกับภาษีทำให้ยอดขายที่โจทก์แสดงตามแบบแสดงรายการคลาดเคลื่อน มียอดขายที่โจทก์ต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) (4) (10) แห่งประมวลรัษฎากร และจากการตรวจสอบใบกำกับภาษีซื้อกับรายงานภาษีซื้อ โจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อที่มีข้อความไม่ถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยมีรายการไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เฉพาะใบกำกับภาษีที่ออกโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการไฟ้ฟ้าส่วนภูมิภาคมีชื่อและที่อยู่ไม่ถูกต้องโดยระบุว่า บริษัทสยามอุตสาหกรรมการเกษตร (สับปะรด) จำกัด บริษัทสยามอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด บ้านพักบริษัทสยามอุตสาหกรรมการเกษตร (สับปะรด) จำกัด บริษัทสยามอุตสาหกรรมการเกษตร สโมสรและบ้านพักเกษตรสับประรด ที่อยู่ไม่มีเลขที่ หมู่ที่ถนน ชื่อตำบลและอำเภอไม่ถูกต้องตามรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีวันที่ออกใบกำกับภาษี ถือเป็นใบกำกับภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้ยอดซื้อ ภาษีซื้อ ตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์แสดงไว้ไม่ถูกต้อง โจทก์ต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) (4) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินยอดซื้อ ภาษีซื้อ ยอดขาย ภาษีขาย และประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับของเดือนภาษีสิงหาคม กันยายน ตุลาคม 2544 ใหม่ตามผลการตรวจสอบ โจทก์อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งประเด็นยอดขาย ภาษีขาย จึงไม่พิจารณา ส่วนประเด็นใบกำกับภาษีซื้อเห็นว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อที่ไม่ตรงตามรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาถือเป็นภาษีซื้อเป็นใบกำกับภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินชอบแล้ว แต่โจทก์มีภาษีชำระเกินเหลืออยู่จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีตามการประเมิน คงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับจากการแสดงรายการภาษีคลาดเคลื่อนตายนัยมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีมีเหตุอันควรผ่อนผันจึงพิจารณาเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ในชั้นตรวจสอบก่อนเจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีได้แจ้งประเด็นความผิดตามที่ตรวจพบและชี้แจงเกี่ยวกับที่มาของตัวเลข การคำนวณตัวเลข ยอดแตกต่าง ประกอบเอกสารของโจทก์ที่เจ้าพนักงานใช้ในการประเมินให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบ และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้แยกรายละเอียดรายการ ตอนที่ 1 ยอดขายและภาษีขาย ตอนที่ 2 ยอดซื้อและภาษีซื้อ ตอนที่ 3 การคำนวณภาษี รายละเอียดตามแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่น รายละเอียดตามผลการตรวจสอบ รายละเอียดยอดแตกต่าง เหตุผลที่ประเมิน วิธีการคำนวณ ภาษีที่ต้องชำระเบี้ยปรับ หนังสือแจ้งการประเมินจึงชัดแจ้งทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลที่ประเมิน ซึ่งเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการตรวจสอบเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งสิ้น โจทก์ย่อมทราบดี การที่โจทก์อ้างว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินไม่อาจรับฟังได้ หนังสือแจ้งการประเมินชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว จากการตรวจสอบใบกำกับภาษีซื้อขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเดือนภาษีสิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2544 ชื่อที่อยู่ของผู้รับบริการไม่ตรงตามรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าใบกำกับภาษีบางฉบับจะระบุชื่อโจทก์แต่ก็เป็นชื่อก่อนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนับจากวันจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจนถึงวันออกใบกำกับภาษีเป็นระยะเวลานับ 10 ปี โจทก์ละเลยไม่ตรวจสอบและแก้ไขให้ผู้ออกใบกำกับภาษีเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง กรณีไม่มีเหตุอนุโลมตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ถือเป็นใบกำกับภาษีต้องห้าม โจทก์ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีซื้อไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีของโจทก์ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ข้อ 2 ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์นำส่งใบกำกับภาษีซื้อค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์ เดือนภาษีสิงหาคม 2546 ซึ่งระบุชื่อโจทก์และที่อยู่ที่ถูกต้องตรงตามรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาแสดงได้ กรณีของโจทก์จึงมิใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีมาแสดง หนังสือรับรองของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ทำให้ใบกำกับภาษีซื้อซึ่งมีชื่อ ที่อยู่ของผู้รับบริการที่ไม่ถูกต้อง เป็นใบกำกับภาษีซื้อที่มีชื่อ ที่อยู่ของผู้รับบริการที่ถูกต้องได้ และผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนเมื่อได้รับการร้องขอจากโจทก์ก็ดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้องได้ ตามนัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ข้อ 24 และ 25 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน แต่การอุทธรณ์การประเมินไม่เป็นเหตุทุเลาการชำระภาษี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีและเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์ไม่ชำระจึงเป็นค่าภาษีอากรค้าง จำเลยจึงใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 562,694 บาท (ที่ถูกคือ 562,964 บาท)ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มว่าโจทก์มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายและขอคืนเป็นเงินสด จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินในแต่ละเดือนภาษี โจทก์มีภาษีที่ชำระเกินตามแบบแสดงรายการแต่ลดน้อยลงตามผลการตรวจสอบ โจทก์จึงไม่มีภาษีที่ต้องชำระ แต่โจทก์รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไปก่อนการตรวจสอบโดยโจทก์ไม่มีสิทธิรับคืนสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2544 จำนวน 64,359.05 บาท 114,589.42 บาท และ 102,534.05 บาท ตามลำดับ ดังนั้น ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า โจทก์มีภาษีที่ชำระเกินจึงไม่ต้องชำระภาษีตามการประเมินและให้ลดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บตามหนังสือแจ้งการประเมิน คงเหลือเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ 50 จึงถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และมีรายละเอียดของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว โจทก์เป็นบริษัทมหาชนประกอบกิจการขนาดใหญ่ ย่อมมีพนักงานที่เชี่ยวชาญทางด้านบัญชี และกฎหมาย ใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์รับจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีลักษณะผิดพลาดโดยชัดแจ้ง โจทก์สามารถตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องได้แต่ละเลยไม่ดำเนินการจนเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบก็ไม่ดำเนินการแก้ไข กรณีไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับอีก โจทก์ไม่อุทธรณ์การประเมินยอดขายภาษีขาย การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงถึงที่สุด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและงดการสืบพยาน แล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 73.1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบุว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 88, 88/2, 88/5 และ 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ขอแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2544 พร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) (4) (10) แห่งประมวลรัษฎากร ดังรายละเอียดต่อไปนี้ รายการ ตอนที่ 1 แสดงยอดขายและภาษีขาย ตอนที่ 2 แสดงยอดซื้อและภาษีซื้อ และตอนที่ 3 แสดงการคำนวณภาษี โดยระบุรายละเอียดในช่องแรกว่า เป็นรายการตามแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้ช่องที่สองระบุว่า เป็นรายการตามผลการตรวจฯ และช่องที่สามระบุว่า เป็นยอดแตกต่างโดยสรุปยอดรวมภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม ขอให้นำเงินภาษีไปชำระ ณ สำนักงานสรรพากรเขตหรือสำนักงานสรรพากรอำเภอวัฒนาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ นอกจากนี้ด้านหลังหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ระบุเหตุผลที่ประเมินว่า ยอดขายแสดงไว้ต่ำไป และระบุว่ามียอดซื้อที่เสียภาษีแล้วโดยนำภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 มาถือเป็นเครดิต ทั้งระบุข้อความควรทราบไว้ว่า 1. ถ้าไม่ชำระภาษีภายในวันที่… ตามรายการที่ (15) จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร นับจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ได้ชำระภาษีและหากมิได้ชำระภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินนี้ เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีไม่เห็นด้วยกับการประเมินจะต้องยื่นคำอุทธรณ์ด้วยแบบ ภ.ส. 6 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งจำนวนเงินภาษีนี้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้ระบุเหตุผลที่วินิจฉัยว่า ตามหลักฐานที่ตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อผู้อุทธรณ์นำใบกำกับภาษีซื้อที่ไม่ตรงตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้มาถือเป็นภาษีซื้อ ใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวย่อมถือเป็นใบกำกับภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุผลที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยของอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นนี้ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย และศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งงดการสืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะนำมาวินิจฉัยให้ได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาวินิจฉัยก่อน ทั้งจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนสิงหาคม 2544 ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 สมควรที่ศาลภาษีอากรกลางจะต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความให้สิ้นกระแสความเสียก่อน จึงให้ยกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางและให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินการสืบพยานฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นนี้ก่อน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ข)”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำพิพากษาไปตามรูปความ