คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 113 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ผู้ร้องร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉลของลูกหนี้โดยเหลือเวลาอีกเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดอายุความ 1 ปี ย่อมทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการได้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเสร็จก็เกินกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ การที่ผู้ร้องฟ้องคดีล้มละลายและร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอน การฉ้อฉลมิใช่การฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2530 ผู้ร้องแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้เคยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่39252 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างลูกหนี้ได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายวิฑิต วงษ์โกวิทเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการโอนตามมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่เพิกถอนการโอนดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้รับโอนซื้อจากลูกหนี้เป็นราคาพอสมควร และหลังจากซื้อแล้วได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยตลอดมา พฤติการณ์น่าเชื่อว่าผู้รับโอนสุจริต ผู้ร้องทราบข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528 แต่ผู้ร้องแถลงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529 โดยมิได้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจดำเนินการร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายในกำหนดเวลา 1 ปีขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการฉ้อฉลของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 จึงต้องอยู่ ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันเวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนดังกล่าว ได้ความว่าผู้ร้องโดยอธิบดีกรมสรรพากรทราบเหตุที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ร้องเสียเปรียบอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉล เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528 และผู้ร้องได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529 เห็นว่าการแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการให้โดยเหลือเวลาอีกเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดอายุความ1 ปี นับแต่เวลาที่ผู้ร้องรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนดังกล่าวย่อมทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการได้ โดยเฉพาะผู้ร้องก็มิได้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินหรือหนังสือสัญญาซื้อขายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย กว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกผู้รับโอนมาสอบสวนก็ล่วงพ้นอายุความแล้ว กรณีจึงไม่อาจจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ว่าการเพิกถอนการฉ้อฉลรายนี้ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องได้ฟ้องคดีล้มละลายและแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113ดังกล่าวก็มิใช่การฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ได้ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share