คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2518 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2527 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติให้ถูกระเบียบและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามความในมาตรา108 ไม่ เพราะจำเลยเข้ายึดถือ ครอบครอง ที่ดินภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินลำห้วยสาธารณะ ‘โสกผีตาย’ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันเป็นเนื้อที่ ๒ ไร่ ๙๐ ตารางวาโดยจำเลยเข้าไปปิดกั้นถมทับและเข้าทำนา โดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดตำบลห้วยยางอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิประกาศของคณะปฏิวัติที่ ๙๖ ข้อ ๑๑ ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่จำเลยบุกรุกเข้าไปดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องจำคุก ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ หรือไม่เห็นว่าตามคำฟ้องที่โจทก์ได้บรรยายดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นการบรรยายฟ้องที่ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่าตามวันเวลาดังกล่าวนั้น จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน คือที่ดินลำห้วย ‘โสกผีตาย’ ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลห้วยยาง อำเภอบัวใหญ่จังหวัดนครราชสีมาฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิและประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๙๖ ข้อ ๑๑ แล้วหาจำต้องบรรยายว่า ‘จำเลยเพิกเฉยมิได้ปฏิบัติให้ถูกระเบียบและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่’ ดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาได้ความว่าจำเลยบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่ดินลำห้วยสาธารณะตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง ซึ่งเป็นวันเวลาภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๙๖ ใช้บังคับแล้ว
พิพากษายืน.

Share