คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา95มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าหากพยานบอกเล่ากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานบอกเล่าดังกล่าวนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ในมูลละเมิดอันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แม้จำเลยที่3จะอุทธรณ์แต่เพียงผู้เดียวศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่1และที่2ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การขาดนัดพิจารณาและมิได้อุทธรณ์ด้วยได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนม-1502 สุราษฎร์ธานี จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของครอบครองใช้ประโยชน์เครื่องวัดกระแสไฟฟ้าแล้วละเลยไม่ดูแลทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรเป็นเหตุให้เพลิงไหม้อาคารแล้วลุกลามมาไหม้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 140,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิใช่เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์นำคำให้การของนายปราโมทย์ สมคะเณย์ ซึ่งมิได้เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาวินิจฉัยเป็นการรับฟังพยานที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95(2) และการที่ศาลอุทธรณ์นำรายงานผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.24 ซึ่งเป็นเพียงรายงานความเห็นของผู้ที่ไม่รู้เห็นเหตุการณ์มาวินิจฉัยว่าเหตุเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนที่แสดงว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และเป็นการรับฟังพยานที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 ด้วยนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 มิได้บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียเลยทีเดียว เมื่อพยานบอกเล่านั้นกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ แม้นายปราโมทย์ สมคะเณย์จะไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วนายปราโมทย์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 ตำแหน่งวิศวกรประจำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้เป็นประธานกรรมการตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ นายปราโมทย์จึงเข้าไปสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ตลอดจนสำรวจตรวจสอบสภาพของเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ จึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของนายปราโมทย์ประกอบพยานหลักฐานอื่นในเรื่องเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าที่พิพาทได้ ส่วนรายงานผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.24 นั้นก็เป็นพยานเอกสารซึ่งโจทก์เป็นผู้อ้างส่งศาล ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวขึ้นรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้แม้จะขัดกับพยานเอกสารฉบับอื่นในสำนวนการสอบสวนนั้นก็ตามการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย โดยอ้างเหตุว่าเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้นั้นไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งมิได้นำสืบปฏิเสธฟ้องโจทก์ด้วย คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบหักล้างพยานโจทก์แต่อย่างใดนั้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)บัญญัติว่า ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์นั้นเกี่ยวกับด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และคู่ความแต่บางฝ่ายเป็นผู้อุทธรณ์ซึ่งทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีผลเป็นที่สุดระหว่างคู่ความอื่น ๆ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรกลับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจชี้ขาดว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้มีผลระหว่างคู่ความทุกฝ่ายในคดีในศาลชั้นต้นด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ในมูลละเมิดอันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังและเชื่อว่าเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้จำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์แต่เพียงผู้เดียวศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณาและมิได้อุทธรณ์ด้วยได้ตามความในมาตรา 245(1) ดังกล่าวข้างต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share