แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินได้ที่นายจ้างออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้ของลูกจ้าง ก่อนที่จะทราบว่าเป็นเงินได้จำนวนเท่าใด ต้องทราบเสียก่อนว่าลูกจ้างนั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินของตนเป็นจำนวนเท่าใด และภาษีเงินได้ซึ่งลูกจ้างจะต้องเสีย หากนายจ้างออกให้ก็ต้องนำมารวมกับเงินได้พึงประเมินเดิมของลูกจ้าง เพื่อถือเป็นเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นของลูกจ้างผู้นั้น การที่จำเลยนำเอาจำนวนเงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนให้นั้นมาคำนวณทุกทอดซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จบ อันเป็นการคำนวณภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษีเงินได้ที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ของ ป.รัษฎากรที่ใช้บังคับในขณะนั้น วิธีการคำนวณของจำเลยจึงไม่ชอบ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ ต.1/1037/1/20952 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่70/2532/1
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เพียงว่า โจทก์ได้หักภาษีเงินได้ของนายลีโอนาคัส ซี.แรพเคอมา หรือ แรพคีมาร์ กับนายเฮ็นรี โฮเก็นเด็คนำส่งจำเลยครบถ้วนหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันฟังเป็นยุติว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ของนายลีโอนาคัสซี.แรพเคอมาหรือแรพคีมาร์ กับนายเฮ็นรี โฮเก็นเด็ค ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์ได้ออกค่าภาษีให้โดยโจทก์ใช้วิธีหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ของบุคคลทั้งสองด้วยการนำเงินในแต่ละปีมาคำนวณภาษี จากนั้นจึงนำจำนวนภาษีบวกกับเงินได้ของบุคคลดังกล่าวแล้วคำนวณภาษีจากเงินได้ที่รวมกันนั้น เป็นเงินภาษีเท่าใดโจทก์ก็นำไปชำระให้จำเลยทั้งสามปีที่พิพาท ส่วนจำเลยมีวิธีการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โดยจะต้องนำภาษีที่คำนวณได้ครั้งที่ 2 และครั้งต่อ ๆ ไปมาบวกกับเงินได้แล้วคิดภาษีอีกจนกระทั่งไม่มีจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งเมื่อคิดโดยวิธีนี้โจทก์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวน 795,241.60 บาท852,167.12 บาท และ 1,870,545.22 บาท สำหรับปี 2521, 2522และ 2523 ตามลำดับ และเงินเพิ่มจะเป็นจำนวนตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า วิธีการคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์หรือของจำเลยเป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่พนักงานทั้ง 2 คนของโจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีที่พิพาทกันบัญญัติว่า
“มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้านเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้หรือภาษีอากรอื่น เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ที่ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระและเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน”
จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่า เงินได้ที่นายจ้างออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้ของลูกจ้างผู้ใดนั้น ก่อนที่จะทราบว่าเป็นเงินได้จำนวนเท่าใด ก็จะต้องทราบเสียก่อนว่า ลูกจ้างผู้นั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินของตน (หากนายจ้างมิได้ออกค่าภาษีเงินได้ให้) เป็นจำนวนเท่าใด และภาษีเงินได้ซึ่งลูกจ้างจะต้องเสียจำนวนนี้ หากนายจ้างออกให้ก็จะต้องนำมารวมกับเงินได้พึงประเมินเดิมของลูกจ้างเพื่อถือเป็นเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นของลูกจ้างผู้นั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40(1) ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งโจทก์ได้ใช้วิธีการคำนวณดังกล่าวนี้หักภาษีเงินได้ของลูกจ้างทั้งสองของโจทก์และนำส่งจำเลย จึงเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว ส่วนวิธีคำนวณของจำเลยนั้นเป็นการนำเอาจำนวนเงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนให้นั้นมาคำนวณทุกทอดซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จบอันเป็นการคำนวณภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษีเงินได้ที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ของประมวลรัษฎากร โดยมาตรา40(1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มิได้บัญญัติให้ใช้วิธีการคำนวณดังกล่าวได้ วิธีการคำนวณของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.