แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เช่าซื้ออาคารพิพาทจาก ก. และชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาต่อมามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจให้ไปโอนการ เช่าซื้ออาคารพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยย่อมไม่อาจถือเอาสิทธิ ในการเช่าซื้ออาคารพิพาทได้ โจทก์คงเป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้อ อาคารพิพาทที่แท้จริงและมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลย ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตาม เอาทรัพย์สินคืนไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนสิทธิการเช่าซื้ออาคารห้องชุดดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ หรือให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาเช่าซื้อต่อ หากจำเลยไม่โอนสิทธิการเช่าซื้อให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้ออาคารห้องชุดที่พิพาทจากการเคหะแห่งชาติโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2536 ซึ่งโจทก์รู้ถึงการโอนสิทธิของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนสิทธิเช่าซื้ออาคารพิพาทเลขที่ 200/12 คืนโจทก์ หากจำเลยไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้ออาคารพิพาทโจทก์เบิกความว่าได้เช่าซื้ออาคารพิพาทจากการเคหะแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2520 ตามสัญญาเช่าซื้ออาคารเอกสารหมายจ.1 และได้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ต่อมาได้รับแจ้งจากธนาคารว่าการเคหะแห่งชาติไม่ได้ส่งใบเสร็จรับเงินมาเพื่อให้หักเงินค่าเช่าซื้อเช่นปกติ โจทก์จึงไปสอบถามได้ความว่าสิทธิในการเช่าซื้ออาคารพิพาทได้โอนเป็นของจำเลยแล้ว เนื่องจากมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจให้ไปโอนการเช่าซื้ออาคารพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์จึงแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ดังกล่าวอันได้แก่ นายสงัด เจริญพงษ์และนางนิภา สายประสิทธิ์ ซึ่งศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกบุคคลทั้งสองตามคำพิพากษาศาลจังหวัดธัญบุรีเอกสารหมาย จ.3 จากนั้นโจทก์ได้นำคำพิพากษาดังกล่าวไปแจ้งต่อการเคหะแห่งชาติเพื่อยืนยันว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจ การเคหะแห่งชาติบอกให้ไปฟ้องเป็นคดีเพื่อขอคำสั่งศาลให้จำเลยโอนอาคารพิพาทคืนแก่โจทก์ ในขณะเดียวกันจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยได้สิทธิการเช่าซื้ออาคารพิพาทดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน อีกทั้งไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำหนังสือมอบอำนาจปลอมแต่อย่างใดซึ่งข้อต่อสู้ดังกล่าวจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานใด ๆ มานำสืบสนับสนุน ที่สำคัญจำเลยซึ่งทราบเรื่องดีก็ไม่ได้มาเบิกความเป็นพยานเพื่อที่จะได้ให้โจทก์ถามค้านให้สิ้นกระแสความ ส่วนคำเบิกความของนายวชิระ มีมุข ซึ่งเป็นพยานจำเลยเพียงคนเดียวก็หาได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยสืบไม่สมข้อต่อสู้ของตน ทำให้คดีโจทก์มีเหตุผลให้เชื่อถือ นอกจากนี้ได้ความจากโจทก์อีกว่า มีพนักงานของการเคหะแห่งชาติชื่อนายวชิระบอกให้โจทก์ไปพบจำเลยครั้นเมื่อได้พบกัน จำเลยกลับบอกให้โจทก์นำเงินที่หลานสาวโจทก์กู้ยืมจากจำเลยมาคืนแล้วจะคืนบ้านให้ ซึ่งการนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจำเลยมิได้ถามค้านเพื่อให้เห็นเป็นอย่างอื่นพฤติการณ์แห่งคดีส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลย ทั้งนี้เพราะโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการกู้ยืมเงินระหว่างหลานสาวโจทก์กับจำเลยนั่นเอง ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นเมื่อคดีฟังได้ว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ปลอมประกอบด้วยพฤติการณ์อันไม่สุจริตของจำเลยดังกล่าวจำเลยจึงไม่อาจถือเอาสิทธิในการเช่าซื้ออาคารพิพาทไปจากโจทก์ได้ โจทก์จึงคงเป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้ออาคารพิพาทที่แท้จริงต่อไป สำหรับประเด็นข้อที่สองที่ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ นั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเช่าซื้ออาคารพิพาท ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 และกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาทรัพย์สินคืนไว้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน