คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3930/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่จำเลย ปฏิบัติผิดสัญญาเช่าว่า นับแต่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าตลอดจนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าแล้วจำเลยได้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2533 เป็นต้นมา อันหมายความว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่านับจากเดือนกรกฎาคม 2533 ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ในระหว่างเวลา ดังกล่าวแม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยมิได้นำเงินค่าเช่า ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2534 เป็นต้นมา ก็ต้องถือว่ายังอยู่ในข้อกล่าวหาของโจทก์อยู่นั่นเองส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับวันผิดนัดจริงหากยังอยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องแล้วย่อมถือไม่ได้ว่า เป็นเรื่องนอกฟ้อง จำเลยนำค่าเช่าไปชำระให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับถือว่าจำเลยได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว โจทก์จะปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้หาได้ไม่ กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลย ตกเป็นผู้ผิดนัด ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิ โดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ในคดีแพ่ง ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทเลขที่ 10/37 โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาด จำเลยเช่าตึกพิพาทจากนางดาวรัตน์ ถีรศิลป์ เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมมีกำหนดเวลาเช่า12 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 อัตราค่าเช่าเดือนละ500 บาท ชำระค่าเช่าภายในวันที่ 1 ของเดือน ครั้นโจทก์รับโอนตึกพิพาทและที่ดินมาแล้ว สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงตกแก่โจทก์ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 ตลอดมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแต่จำเลยยังคงครอบครองตึกพิพาท เป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์อาจนำตึกพิพาทออกให้เช่าในอัตราเดือนละ 30,000 บาทขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกพิพาทเลขที่ 10/37 กับส่งตึกพิพาทในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าตึกพิพาทจากนางดาวรัตน์ ถีรศิลป์เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมมีกำหนด 12 ปี โจทก์ไม่ยอมรับค่าเช่าจากจำเลย จำเลยจึงนำค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดี โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกพิพาทเลขที่ 10/37 พร้อมส่งมอบตึกพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2534 และถือว่าจำเลยผิดสัญญานั้นเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่กล่าวในฟ้องพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยเช่าตึกพิพาทจากนางดาวรัตน์ ถีรศิลป์ เจ้าของเดิมมีกำหนด 12 ปี นับแต่วันที่1 พฤษภาคม 2529 อัตราค่าเช่าเดือนละ 500 บาท ต่อมาโจทก์ซื้อตึกพิพาทได้จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีเมื่อเดือนธันวาคม 2532 จำเลยจึงนำค่าเช่าไปชำระให้แก่โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยได้นำค่าเช่าไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์เป็นค่าเช่าสำหรับเดือนมกราคม 2533 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2534เดือนละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 7,000 บาท โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ 2534จำเลยมิได้นำเงินค่าเช่าไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์อีก
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษานอกคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวหาจำเลยผิดสัญญาเช่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปจึงได้บอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากทรัพย์ที่เช่า แต่จำเลยไม่ยอมออกจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยขนย้ายออกไป ซึ่งคำฟ้องดังกล่าวโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่าว่านับแต่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าตลอดจนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยได้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 เป็นต้นมา อันหมายความว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่านับจากเดือนกรกฎาคม 2533ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ในระหว่างเวลาดังกล่าวแม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยมิได้นำเงินค่าเช่าไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2534 เป็นต้นมา ก็ต้องถือว่ายังอยู่ในข้อกล่าวหาของโจทก์อยู่นั่นเอง ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับวันผิดนัดจริง หากยังอยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องแล้วย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องนอกฟ้องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ในปัญหาที่ว่า การที่โจทก์ไม่ยอมรับชำระค่าเช่าจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว จึงเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยต่อไป ในปัญหานี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยนำค่าเช่าไปชำระให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับถือว่าจำเลยได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้วโจทก์จะปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้หาได้ไม่ กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษายืน

Share