คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

(คำสั่งศาลฎีกาที่ 393/2536) จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2535 โดยจำเลยลงชื่อไว้ใต้ข้อความซึ่งประกอบด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ต่อมา วันที่ 28 ตุลาคม 2535 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาและสั่งให้จำเลย นำส่งสำเนาฎีกาภายใน 5 วัน ดังนี้ ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการนำส่งสำเนาฎีกาภายใน ระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกา ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วย มาตรา 246,247

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 65,388.82 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2535 และปรากฏว่าด้านหน้าของฎีกามีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า”ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีจำเลยลงลายมือชื่อไว้ ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2535 โดยสั่งให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาภายใน 5 วัน ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว จำเลยหรือผู้แทนจำเลยไม่มาดำเนินการนำส่งสำเนาฎีกาดังปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ในสำนวนศาลชั้นต้นจึงสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดระยะเวลาให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในชั้นฎีกานำส่งสำเนาฎีกาภายใน 5 วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งหลังจากจำเลยยื่นฎีกา 2 วันก็ตาม แต่การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยยอมรับว่าจะมาฟังคำสั่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 ถ้าไม่มาให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247”
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา

Share