คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ม. กระชากสร้อยคอขาดหลุดจากคอผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ใช้มือจับยึดสร้อยคอของตนไว้ก่อน ม. จึงแย่งเอาไปไม่ได้ แล้ว ม. วิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งติดเครื่องจอดรออยู่ตามแผนการที่ร่วมกันวางไว้และหลบหนีไป ดังนี้แม้สร้อยคอจะอยู่ที่มือ ม. ตอนกระชาก ก็เป็นการกระทำในขั้นที่มุ่งหมายจะให้สร้อยขาดหลุดจากคอผู้เสียหายเท่านั้น ม. ยังไม่ทันยึดถือเอาไป การที่ ม. จะยึดถือเอาสร้อยไปยังไม่บรรลุผล จำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิดด้วยจึงมีความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด
เดิมจำเลยกับ ม. ถูกฟ้องเป็นสำนวนเดียวกันในข้อหาว่าร่วมกันวิ่งราวทรัพย์ม. ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยให้การปฎิเสธ ศาลสั่งให้แยกฟ้องจำเลยแล้วพิพากษาลงโทษ ม. ในความผิดสำเร็จฐานวิ่งราวทรัพย์ ส่วนคดีหลังซึ่งจำเลยถูกฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำของ ม. เป็นเพียงขั้นพยายามเท่านั้นศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งร่วมกระทำผิดด้วยฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์ดังนี้ ศาลพิพากษาชอบแล้ว เพราะในคดีที่ ม. เป็นจำเลยไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำความผิดของ ม. เป็นเพียงขั้นพยายามกระทำผิด ศาลจึงต้องลงโทษ ม. ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยในคดีนั้นเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้กับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14/2518ของศาลชั้นต้น ได้ร่วมกันลักสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 1,800 บาทของนางประทีป จุติยนต์ ซึ่งสวมใส่ไว้ที่คอโดยฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า กับใช้รถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะเพื่อใช้ในการกระทำผิดและพาทรัพย์หนีไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 336, 336 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 336, 336 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 13 จำคุก 5 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 336, 336 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13 จำคุก 3 ปี

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายยืนอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์นายมืดหรือบุญธรรม ชนะสัตย์ ไปเดินวนเวียนอยู่ข้าง ๆ ผู้เสียหายรู้สึกตัวจึงใช้มือจับสร้อยคอทองคำซึ่งสวมใส่อยู่ที่คอของตนไว้ นายมืดหรือบุญธรรมเข้าดึงเอาสร้อยคอสร้อยคอจึงขาดติดมือผู้เสียหายอยู่ นายมืดหรือบุญธรรมเอาสร้อยคอไปไม่ได้ผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น นายมืดหรือบุญธรรมวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งติดเครื่องจอดรออยู่ริมถนนตรงกันข้ามกับโรงภาพยนตร์ จำเลยได้ขับรถพานายมืดหรือบุญธรรมไปทันที เมื่อถูกฟ้องศาลนายมืดหรือบุญธรรมให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลย แล้วพิพากษาลงโทษนายมืดหรือบุญธรรม คดีถึงที่สุดแล้ว และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจะวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดสำเร็จฐานวิ่งราวทรัพย์หรือพยายามวิ่งราวทรัพย์ต้องอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งได้ความจากการกระทำของนายมืดหรือบุญธรรมเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ซึ่งก็ได้ความว่าเมื่อนายมืดหรือบุญธรรมกระชากสร้อยคอขาดหลุดจากคอผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ใช้มือจับยึดสร้อยคอของตนไว้ก่อน นายมืดหรือบุญธรรมแย่งเอาไปไม่ได้แม้สร้อยคอจะอยู่ที่มือนายมืดหรือบุญธรรมตอนกระชาก ก็เป็นการกระทำในขั้นที่มุ่งหมายจะให้สร้อยขาดหลุดจากคอผู้เสียหายเท่านั้น นายมืดหรือบุญธรรมยังไม่ทันยึดถือเอาไป การที่นายมืดหรือบุญธรรมจะยึดถือเอาสร้อยไปยังไม่บรรลุผลจำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิดด้วยจึงมีความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลลงโทษจำเลยคนหนึ่งขั้นความผิดสำเร็จ แต่จะลงโทษจำเลยอีกคนหนึ่งที่ร่วมกระทำผิดด้วยขั้นพยายามกระทำผิดได้อย่างไร ควรลงโทษทำนองเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในคดีที่นายมืดหรือบุญธรรมเป็นจำเลย ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำความผิดของนายมืดหรือบุญธรรมเป็นเพียงขั้นพยายามกระทำผิดเช่นคดีนี้ศาลจึงต้องลงโทษนายมืดหรือบุญธรรมตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยในคดีนั้นเท่านั้น

พิพากษายืน

Share