แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันใดไม่ปรากฏแต่บันทึกความเสียหายที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไว้ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2522 และหลังจากนั้นปรากฏว่าบ้านของโจทก์ยังเสียหายเพิ่มเติมขึ้นอีกเรื่อย ๆ แม้จำเลยจะมีหลักฐานการรับมอบงานช่วงหน้าบ้านโจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนในส่วนวางท่อระบายน้ำ ถมทรายบนท่อ พร้อมทั้งบดอัดแน่น และทำผิวจราจรถมทรายและบดอัดแน่นเสร็จตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 แล้วก็ตามแต่หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 ยังมีการทำถนนบริเวณหน้าบ้านโจทก์ต่อไป การที่บ้านโจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่8 ธันวาคม 2522 จึงสืบเนื่องมาจากการทำถนนของจำเลยที่ 1 นั่นเองโจทก์ให้ช่างซ่อมตัวบ้านไม่ให้ทรุด ลงอีกในปลายปี 2523 และฟ้องคดีนี้วันที่ 23 เมษายน 2524 ยังไม่พ้นเวลา 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448จึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ระหว่างปลายปี2522 ถึงกลางปี 2523 จำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ก่อสร้างถนนสายรัชดาภิเษกโดยประมาทเลินเล่อทำให้บ้านของโจทก์ซึ่งอยู่ติดถนนดังกล่าวพังแตกร้าว โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยซ่อมแซมบ้านของโจทก์ จำเลยไม่จัดการหากปล่อยทิ้งไว้บ้านของโจทก์อาจพังล้มลงโจทก์จึงจ้างช่างมาซ่อมแซมเท่าที่จำเป็นเสียค่าจ้างและค่าวัสดุรวมเป็นเงิน 42,644 บาท และจะต้องซ่อมแซมบ้านให้คืนสภาพเดิมอีกเป็นเงิ270,000 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน จำนวน 312,644 บาทพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 รับเหมาสร้างถนนตามฟ้องไม่ได้ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อแต่ก่อสร้างถนนดังกล่าวด้วยความระมัดระวังโดยมีจำเลยที่ 2 ดูแลอย่าใกล้ชิด การสร้างถนนไม่ได้ทำให้บ้านโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428ค่าเสียหาย โจทก์ไม่เกิน 10,000 บาท ฟ้องเคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นผู้ว่าจ้าง ความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 10,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิ122,644 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่ตัวบ้านโจทก์เสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการทำถนนของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าปัญหาต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 1 ทำถนนรัชดาภิเษกผ่านรั้วบ้านของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก ทำให้บ้านของโจทก์เสียหาย นายนิพนธ์ นายชัยสิทธิ์ และนายกวีพจน์ได้ทำบันทึกความเสียหายเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้ ต่อมาได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองมาซ่อมแซมบ้านให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผัดผ่อนเรื่อยมา ทำให้บ้านทรุดโทรมลงไปเรื่อย ๆ ต่อมาได้ไปร้องทุกข์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2523 ตามสำเนาคำร้องเอกสารหมาย จ.7 และมีนายนิพนธ์ มงคลสมัย มาเบิกความสนับสนุนว่า ได้เข้าไปดูบ้านโจทก์ในราวเดือนธันวาคม 2522 พยานดูบ้านโจทก์หลายครั้ง ครั้งหลังรอยร้าวเพิ่มขึ้นจากรอยร้าวเดิม พยานได้รับคำสั่งจากนายสมพรหัวหน้างานให้รายงานความเสียหายของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 2 แต่รายงานที่ทำตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นความเสียหายตอนปี 2522 ไม่ได้รายงานความเสียหายที่เพิ่มเติมภายหลัง เห็นว่า วันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันใดไม่ปรากฏ และตามบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ลงวันที่แต่มีข้อความที่ด้านหลังบันทึกดังกล่าวตรงมุมซ้ายว่า “ได้มาตรวจแล้ว8 ธ.ค. 22 ลายมือชื่อ และ บ.ไทยสถาปนา จำกัด” แสดงว่า หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 บ้านโจทก์ยังได้รับความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นอีกเรื่อย ๆ แม้ฝ่ายจำเลยจะมีหลักฐานการรับมอบงานช่วงหน้าบ้านโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 และวันที่18 มิถุนายน 2522 ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5 ตามลำดับแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างถนนในส่วนวางท่อระบายน้ำ ถมทรายบนท่อ พร้อมทั้งบดอัดแน่นและทำผิวจราจรโดยปรับระดับเสริมแต่พื้นที่ และถมทรายแล้วบดอัดแน่นเสร็จตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 แล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายวิสิษฐ์ พิริยานุสรณ์ และนายกวีพจน์ กรรมการของจำเลยที่ 1 ว่า หลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522ไปแล้ว ยังมีการทำถนนบริเวณหน้าบ้านของโจทก์ ต่อไปโดยการบดอัดผิวถนน ซึ่งใช้รถบดถนนและรถบดสั่นสะเทือนและตั้งแต่วันที่ 23เมษายน 2523 จำเลยที่ 1 ได้ทำท่อระบายน้ำต่อโดยถมชั้นหินฝุ่นและปูทางเท้าโดยใช้เครื่องมือบดอัดซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัมการเทคอนกรีตถนนทำแล้วเสร็จประมาณเดือนสามหรือสี่ปี พ.ศ. 2528 จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าการที่บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2522 นั้นสืบเนื่องมาจากการทำถนนของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ปรากฏว่าโจทก์ให้ช่างซ่อมพยุงตัวบ้านไม่ให้ทรุดลงอีกในราวปลายปี พ.ศ. 2523 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 เมษายน2524 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฯลฯ
พิพากษายืน.