แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้บัญญัติในเรื่องถอนอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแต่ตามมาตรา 246 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลม เมื่อคำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามมาตรา 1 (3) ดังนั้น ในการถอนคำฟ้องอุทธรณ์จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการถอนฟ้องตามมาตรา175 มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยศาลอุทธรณ์จะต้องฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน แม้จำเลยจะคัดค้านก็อยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งอนุญาตได้ และการขอถอนคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งห้าในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยร่วมใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบแปดในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทั้งสิบแปดร่วมกันกระทำต่อจำเลยร่วมเป็นเงิน๕,๘๕๗,๓๓๕,๗๐๓.๑๗ บาท เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียผลประโยชน์เป็นเงิน ๒๐๔,๐๙๓,๓๐๙.๐๗ บาท
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ และที่ ๑๒ ถึงที่ ๑๘ ให้การปฏิเสธความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ขอให้เรียกบริษัทราชาเงินทุน จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกว่าจำเลยที่ ๑๙
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์จำเลยที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๘ คัดค้าน
ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ ถอนอุทธรณ์ได้
จำเลยที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๘ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอนอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ แต่ตามมาตรา ๒๔๖ ของลักษณะ ๑ ว่าด้วยอุทธรณ์ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณา และการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม คำฟ้องอุทธรณ์ก็เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๓) ดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการถอนคำฟ้องตามมาตรา ๑๗๕ มาใช้บังคับเกี่ยวกับการถอนคำฟ้องอุทธรณ์โดยอนุโลม ซึ่งการถอนคำฟ้องในคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๕ บังคับเพียงว่าให้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อนที่จะสั่งนุญาตให้ถอนคำฟ้อง แม้จำเลยคัดค้านก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และการที่โจทก์ขอถอนคำฟ้องเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดี ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และโจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ ขอถอนอุทธรณ์ก็ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตให้โจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ ถอนอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๖ ประกอบด้วยมาตรา ๑๗๕ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้โจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ ถอนอุทธรณ์ได้จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๖ ประกอบด้วยมาตรา ๑๗๕ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้โจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ ถอนอุทธรณ์ได้จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว ข้อที่จำเลยที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๘ อ้างว่า จะทำให้ตนเสียเปรียบเพราะโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ อาจไม่มีเงินชดใช้ค่าฤชา-ธรรมเนียมแทนตามคำพิพากษาของศาลก็ดี หรือเกรงว่าต่อไปในชั้นฎีกาโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ อาจขอฎีกาอย่างคนอนาถาก็ดี ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีบทบัญญัติของกฎหมายได้บัญญัติไว้แล้วและเป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณาสั่งการได้ตามกฎหมายเป็นกรณีไป มิใช่เงื่อนไขที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์หรือไม่
พิพากษายืน.