แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้จัดการสำนักกฎหมายของจำเลยมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนจำเลยโจทก์เบิกเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีตามหน้าที่ของโจทก์เหลือเท่าใดโจทก์ต้องคืนให้จำเลย โจทก์ถอนฟ้อง ศาลสั่งคืนค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 39,283 บาทโจทก์มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้จำเลย แต่โจทก์กลับเบียดบังเอาไว้เป็นของตน ถือได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(1)จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อเดือนสิงหาคม 2523 จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โดยให้ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 55,260 บาท โจทก์ขอรับค่าชดเชย จำเลยไม่จ่าย ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เพราะโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายกล่าวคือ หลังจากจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยสอบหลักฐานพบว่า เมื่อ พ.ศ. 2521 โจทก์ได้ขอเบิกเงินค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องศาล เพื่อฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ.บี.เอส. เรื่องบังคับจำนองเป็นเงิน123,024 บาท เป็นค่าขึ้นศาล 115,225 บาท ค่าใช้จ่าย 7,500 บาท การดำเนินคดีโจทก์รายงานให้จำเลยทราบเพียงว่า ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยสอบถามเรื่องเงินค่าขึ้นศาลที่ศาลสั่งคืน โจทก์บ่ายเบี่ยงอ้างว่าได้ตรวจสอบและกะประมาณเงินที่ศาลสั่งคืน 70,000 บาท จำเลยได้ให้ทนายความตรวจสอบปรากฏว่าศาลสั่งคืนค่าขึ้นศาลจำนวน 22,000 บาทซึ่งโจทก์ได้รับคืนไปแล้ว แต่โจทก์ไม่ส่งมอบเงินค่าขึ้นศาลแก่จำเลยและโจทก์ค้างชำระเงินทดรองจ่ายอีกมาก โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้จำเลยแต่โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ยังไม่เป็นความผิดอาญาแก่จำเลยฐานยักยอกทรัพย์ เป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 56,460 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมีตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นผู้จัดการสำนักกฎหมายตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2520 จำเลยได้ปลดโจทก์ออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2523 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ 143/2524 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม2524 ยกเลิกคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเป็นให้เลิกจ้างโจทก์โดยเหตุปฏิบัติงานไม่ชอบต่อหน้าที่ กระทำผิดทางอาญาโดยเจตนาอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง ในการฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ.บี.เอส.โจทก์ได้เบิกค่าใช้จ่ายจำนวน 7,500 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม 115,225บาท เป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่เบิกไปจากจำเลยเหลือจากการใช้จ่ายเท่าใดโจทก์ต้องนำมาคืนจำเลย ค่าขึ้นศาลในคดีที่โจทก์เป็นทนายฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ.บี.เอส. รวม 2 คดี เป็นเงิน 24,066 บาท และ23,045 บาท เมื่อโจทก์ถอนฟ้อง ศาลได้มีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลให้บางส่วน สำนวนหนึ่ง 22,000 บาท และอีกสำนวนหนึ่ง 17,283 บาท โจทก์ได้รับมาแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2522 นายเดชาได้มอบหมายจากนายชนินทร์ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการของจำเลยให้ทวงถามโจทก์เรื่องค่าขึ้นศาลที่ศาลสั่งคืน โจทก์บอกว่าศาลยังไม่สั่งจ่ายต่อมาได้ทวงถามอีกโจทก์รับปากว่าจะติดตามเรื่องให้ เห็นว่าโจทก์เป็นผู้จัดการสำนักกฎหมายของจำเลยมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนจำเลย โจทก์เบิกเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีตามหน้าที่ของโจทก์ เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์เบิกไปเหลือเท่าใดโจทก์ต้องคืนให้จำเลย โจทก์ถอนฟ้องศาลสั่งคืนค่าขึ้นศาลให้รวม 2 สำนวนเป็นเงิน 39,283 บาท โจทก์มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวนนี้คืนให้จำเลย แต่โจทก์กลับเบียดบังเอาไว้เป็นของตน เมื่อจำเลยทวงถามกลับบอกว่าศาลยังไม่สั่งจ่าย ต่อมาได้รับการทวงถามอีกก็บอกว่าจะติดตามให้ จนกระทั่งโจทก์ออกจากงานก็ไม่คืนเงินดังกล่าวให้จำเลย ถือได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(1) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์