คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือที่สั่งให้โจทก์นำเงินอากรและเงินเพิ่มอากรไปชำระ ลงสถานที่กรมสรรพากร. ผู้ลงนามเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร. คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอธิบดีกรมสรรพากรเป็นประธานประกอบกับประมวลรัษฎากร มาตรา 5 บัญญัติว่า. ภาษีอากรฝ่ายสรรพากรอยู่ในอำนาจหน้าที่และควบคุมของกรมสรรพากร.เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้กระทำไปในนามของกรมสรรพากร. เมื่อโจทก์เห็นว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ถูกต้อง. โจทก์ย่อมฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลยด้วยได้.
ข้อความในเอกสาร ‘ข้าพเจ้า(โจทก์)ขอรับผิดชอบในการที่จะจัดส่งสิ่งของที่ระบุไว้ข้างล่างนี้ไปยังจุดหมายปลายทางโดยมิให้มีการสูญหรือเสียหายเกิดขึ้นเลย’. เป็นเพียงข้อสัญญาที่โจทก์ให้ไว้ว่าจะจัดส่งสิ่งของไปยังจุดหมายปลายทางโดยความปลอดภัยมิให้สิ่งของเหล่านั้นสูญหรือเสียหาย. ซึ่งถ้าเกิดสูญหรือเสียหาย. โจทก์ยอมรับใช้ค่าเสียหายเอกสารดังกล่าวมิได้มีข้อความว่า. โจทก์ได้รับสินค้าไป และออกใบรับของให้. เอกสารดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นใบรับของตามความหมายในข้อ 16 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร. โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องเสียอากรแสตมป์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยให้โจทก์ชำระเงินค่าอากรและเงินเพิ่มอากรที่ไม่ปิดอากรแสตมป์ในใบรับเงินและใบรับของ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ขอให้พิพากษาว่าใบรับเงินและใบรับของไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ใบรับเงินไม่ใช่ใบรับเงินอันจะได้รับยกเว้นอากร ใบรับของเป็นตราสารซึ่งพนักงานหรือนายสินค้าของยานพาหนะรับขนส่งของโจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นใบรับของที่ต้องเสียอากร ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ใบรับเงินเอกสาร จ.1 จ.2 เป็นใบรับเงินที่ต้องเสียอากร ส่วนใบรับของไม่ใช่ใบรับของต้องเสียอากรแสตมป์ พิพากษาให้โจทก์เสียอากรและเงินเพิ่มอากรเฉพาะใบรับเงิน จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลรัษฎากรมาตรา 5 บัญญัติว่า “ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร” และหนังสือที่สั่งให้โจทก์นำเงินอากรและเงินเพิ่มอากรไปชำระยังกรมสรรพากร ลงสถานที่กรมสรรพากรผู้ลงนามในหนังสือลงตำแหน่งว่า สารวัตรใหญ่ ผู้อำนวยการ สารวัตรสรรพากร คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอธิบดีกรมสรรพากรเป็นประธานกรรมการพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่และตามกฎหมายเห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้กระทำไปในนามของกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น เมื่อโจทก์เห็นว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรต่อโจทก์ไม่ถูกต้องโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลยด้วยได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ข้อความในเอกสารที่ว่า ข้าพเจ้า (โจทก์) ขอรับผิดชอบในการที่จะจัดส่งสิ่งของที่ระบุไว้ข้างล่างนี้ไปยังจุดหมายปลายทางโดยมิให้มีการสูญหรือเสียหายเกิดขึ้นเลย” เป็นเพียงข้อสัญญาที่โจทก์ให้ไว้กับบริษัทซิงเกอร์โซอิงแมชีนจำกัด ว่าจะจัดส่งสิ่งของไปยังจุดหมายปลายทางโดยความปลอดภัย มิให้มีการสูญหรือเสียหายเกิดขึ้นแก่สิ่งของเหล่านั้น ซึ่งมีผลเท่ากับว่า ถ้าสูญหรือเสียหายโจทก์ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งสิ้น เอกสารดังกล่าวมิได้มีข้อความแสดงว่าโจทก์หรือคนของโจทก์ได้รับสินค้าไปแต่อย่างใด และโจทก์ก็มิได้ออกใบรับของให้บริษัทซิงเกอร์โซอิงแมชินจำกัด อีกด้วย ส่วนที่บริษัทซิงเกอร์โซอิงแมชีน จำกัด ยอมมอบสินค้าให้แก่คนของโจทก์ก็อาจเป็นว่าโจทก์ได้ยอมรับประกันถึงการสูญหรือเสียหายของสินค้าเหล่านั้นแล้วก็ได้ เอกสารดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นใบรับของที่โจทก์ได้เป็นผู้ออกตามความหมายในข้อ 16 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ พิพากษายืน.

Share