คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ ปรากฏว่ากรณีเดียวกันนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ (คดีนี้) เป็นอีกคดีหนึ่ง ประเด็นคดีดังกล่าวและประเด็นแรกของคดีนี้ตรงกันว่า การขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นโมฆะหรือไม่ เมื่อในคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของโจทก์ (คดีนี้) รับฟังไม่ได้ พิพากษายืนให้ขับไล่โจทก์ (คดีนี้) ก็เท่ากับศาลฎีกาฟังว่าการขายฝากไม่เป็นโมฆะ ทั้งฝ่ายจำเลยก็อ้างสำนวนดังกล่าวเป็นพยานในคดีนี้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงเพียงพอที่จะนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อแรกของคดีนี้แล้ว ไม่จำต้องสืบพยาน และเมื่อประเด็นอีกสองข้อเป็นปัญหาข้อกฎหมาย กับข้อที่เป็นผลมาจากการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งไม่ต้องสืบพยานเช่นเดียวกันฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานคดีนี้จึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับบุตร ๕ คนมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๑๕ แขวงยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำเลยที่ ๑ เป็นบิดาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินบางส่วนของโจทก์และยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ ถึงวันนัดโอนที่ดิน จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ไปตามนัด โจทก์จึงริบเงินมัดจำ ต่อมาจำเลยทั้งสามรับโจทก์ไปกรมที่ดินให้โจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีกำหนดไถ่ใน ๖ เดือน เป็นการฝืนเจตนาและสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เพราะโจทก์ไม่มีเจตนาจะขายฝาก โจทก์ทราบเรื่องเมื่อถูกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินแปลงดังกล่าวตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๗๒/๒๕๒๔ ของศาลแพ่ง ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดและยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แต่โจทก์ต้องการซื้อที่ดินคืน จึงตกลงกันให้จดทะเบียนเป็นขายฝาก การขายฝากสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาท โจทก์ให้การว่าโจทก์ประสงค์จะจำนองแต่ถูกจำเลยหลอกลวงให้จดทะเบียนขายฝาก จำเลยที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ ผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นบุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมว่า โจทก์และผู้ร้องทั้งห้ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกัน ผู้ร้องทั้งห้าไม่มีเจตนาสละมรดก นิติกรรมการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นโมฆะ ขอให้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนขายฝากเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดและยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของผู้ร้องทั้งห้าคนละ ๑ ใน ๙ ส่วน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ และกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ดังนี้
๑. การขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นโมฆะหรือไม่
๒. การสละมรดกของโจทก์ร่วมทั้งห้ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่
๓. โจทก์ร่วมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ เพียงใด
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องว่าคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๒๘๔/๒๕๒๔ ของศาลแพ่งที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้และบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาทมีประเด็นอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ หากศาลเห็นว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำก็ขอให้รอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวก่อน ศาลชั้นต้นสอบคู่ความแล้ว เห็นว่าคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๒๘๔/๒๕๒๔ มีประเด็นเดียวกัน จึงมีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้เพื่อฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าว
โจทก์และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่เห็นสมควรเพิกถอน ให้ยกคำร้อง โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งห้าอุทธรณ์ฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๒๘๔/๒๕๒๔ ของศาลแพ่งดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ (คดีนี้) ชนะคดีโจทก์ (คดีนี้) ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานคดีนี้แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งห้า
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งห้าอุทธรณ์คำสั่งที่ให้งดสืบพยาน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีเพียงว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วมีคำพิพากษานั้นชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท ๓ ข้อ สำหรับประเด็นข้อ ๒ คู่ความแถลงรับกันว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ขอให้ศาลวินิจฉัยเองได้ จึงไม่จำต้องสืบพยาน ส่วนประเด็นข้อ ๓ เป็นผลมาจากการวินิจฉัยประเด็นข้อ ๒ จึงไม่ต้องสืบพยานเช่นเดียวกัน ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานประเด็นข้อ ๒ และข้อ ๓ จึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนประเด็นข้อ ๑ ที่ว่า การขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ ปรากฏว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๒๘๔/๒๕๒๔ ของศาลแพ่งที่ศาลชั้นต้นสั่งให้รอฟังผลนั้น โจทก์และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ พิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายเดียวกัน ซึ่งในคดีดังกล่าวจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ (คดีนี้) ออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอ้างว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยรับซื้อฝากจากโจทก์และหลุดเป็นสิทธิแล้ว โจทก์ (คดีนี้) ให้การต่อสู้ว่า ไม่มีเจตนาขายฝากที่ดินพิพาท ต่อมาภายหลังจึงทราบว่าเป็นการจดทะเบียนขายฝาก เป็นทำนองว่าเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสัญญา ซึ่งถ้าเป็นความจริงดังต่อสู้ สัญญาขายฝากย่อมเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ตามประเด็นข้อ ๑ อยู่แล้วจึงเป็นประเด็นเดียวกัน เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยคดีดังกล่าวว่า ข้อต่อสู้ของโจทก์ (คดีนี้) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวรับฟังไม่ได้ พิพากษายืนให้ขับไล่โจทก์ (คดีนี้) ออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว เท่ากับศาลฎีกาฟังว่าการขายฝากไม่เป็นโมฆะและที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในคดีนี้นั่นเองทั้งฝ่ายจำเลยก็อ้างสำนวนดังกล่าวเป็นพยานในคดีด้วย ข้อเท็จจริงจึงเป็นการเพียงพอที่จะนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อ ๑ ได้แล้ว ไม่จำต้องสืบพยานต่อไป ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดสืบพยานเสียได้
พิพากษายืน.

Share