คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเป็นใจความว่า นายจ้างน่าจะกำหนดวินัยและโทษทางวินัยได้เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน ส่วนนอกเวลาทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างเมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำให้นายจ้างเสียหาย นายจ้างจะเอาเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำงานและไม่เกี่ยวกับความประพฤติในเวลาทำงานมาเป็นเหตุไล่ลูกจ้างออกฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงย่อมไม่เป็นการถูกต้องนั้นแม้ปัญหาข้อนี้จะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงมาแต่ต้นแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีสิทธิอ้างอิงได้
นายจ้างผู้ประกอบกิจการทั้งหลายนอกจากต้องการให้ลูกจ้างร่วมกันทำงานด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมต้องการรักษาชื่อเสียงของกิจการของตนไม่ให้เสื่อมเสียด้วย และการที่ลูกจ้างจะสามารถร่วมกันทำงานดังกล่าวย่อมต้องอาศัยความสามัคคีไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์กันในหมู่คณะของลูกจ้างนั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อที่ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยจึงอาจครอบคลุมถึงความประพฤติส่วนตัวบางประการของลูกจ้างนอกเวลาทำงานได้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ แล้วจำเลยได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเพราะมีผู้เขียนบัตรสนเท่ห์กล่าวหาโจทก์หลายประการ จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ ผลการสอบสวนเหลือเพียงประเด็นเดียวเป็นที่น่าสงสัยว่าโจทก์เป็นกรรมการวัด รับเงินบริจาคไว้แล้วไม่นำส่งมอบแก่วัด แต่ยักยอกไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว คำสั่งให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยก็ไม่ได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้พิพากษายกเลิกคำสั่งของจำเลยและให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นซึ่งไม่ต่างกับตำแหน่งเดิม โดยได้รับค่าจ้างในอัตราเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานได้กระทำถูกระเบียบแบบแผนและกฎหมาย มีการสอบสวนโดยชอบ คณะกรรมการสอบสวนลงความเห็นว่าโจทก์มีความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับเงินบริจาคจากคนงานของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้นำเงินบริจาคมอบให้แก่วัดในเวลาอันสมควร หากจะมีการนำไปมอบให้ก็เป็นการมอบหลังจากที่มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานแล้วไม่มีผลทำให้การเบียดบังเงินที่ได้กระทำไปแล้วไม่เป็นความผิดหรือเป็นการลบล้างการกระทำที่ไม่สมควรในครั้งแรก พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เนื่องจากทำให้เสียชื่อเสียงของจำเลยซึ่งไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ส่งผลถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของหมู่คณะเป็นส่วนรวมแล้วก็เป็นการประพฤติชั่วได้ คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์เป็นใจความว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 68 นั้นจะเห็นได้ว่า นายจ้างน่าจะกำหนดวินัยและโทษทางวินัยได้เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน คือกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างทำงานด้วยความปกติ ราบรื่น ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตลอดจนความประพฤติเฉพาะในระหว่างเวลาทำงานเท่านั้น ส่วนนอกเวลาทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกจ้าง เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยจะเอาเรื่องส่วนตัวของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำงานและไม่เกี่ยวกับความประพฤติในเวลาทำงานมาเป็นเหตุไล่โจทก์ออกฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงย่อมไม่เป็นการถูกต้องนั้นแม้ปัญหาข้อนี้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงมาแต่ต้นแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์จึงมีสิทธิอ้างอิงในชั้นนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 31

นายจ้างผู้ประกอบกิจการทั้งหลาย นอกจากต้องการให้ลูกจ้างร่วมกันทำงานด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและมีประสิทธิภาพแล้วย่อมต้องการรักษาชื่อเสียงของกิจการของตนไม่ให้เสื่อมเสียด้วยและการที่ลูกจ้างจะสามารถร่วมกันทำงานด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและมีประสิทธิภาพนั้นย่อมต้องอาศัยความสามัคคี ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์กันในหมู่คณะของลูกจ้างนั้นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อที่ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยจึงอาจจะครอบคลุมถึงความประพฤติส่วนตัวบางประการของลูกจ้างนอกเวลาทำงานได้ด้วยโดยเฉพาะจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ แม้จะเป็นกฎหมายซึ่งออกใช้บังคับหลังระเบียบการของจำเลยว่าด้วยระเบียบวินัยการลงโทษและการให้ออกจากงานของลูกจ้าง ก็มีบทบัญญัติว่าลักษณะต้องห้ามซึ่งจะเป็นเหตุให้พนักงานของรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่งนั้นอาจเนื่องมาแต่ความประพฤติหรือการกระทำของพนักงานนอกเวลาทำงาน และไม่เกี่ยวกับการทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างก็ได้ ดังนั้น การที่จำเลยมีระเบียบการกำหนดให้ถือว่าลูกจ้างที่ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอาจถูกลงโทษถึงไล่ออกได้นั้นจึงเป็นการชอบ ไม่เป็นการขัดต่อข้อ 68 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ

พิพากษายืน

Share