แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญรับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนในวิทยาลัยสารพัดช่าง เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวเสร็จและได้รับเงินค่าจ้างครบถ้วนแล้ว ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันเพราะเสร็จการนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(3) แม้หลังจากจำเลยได้รับเงินค่าจ้างงวดแรกจำเลยยินยอมคืนเงินลงทุนให้แก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่โจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกันเรื่องจำนวนผู้เป็นหุ้นส่วน จำนวนเงินที่โจทก์ลงทุนไป จำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่บุคคลภายนอก ค่าตอบแทนและค่าผลประโยชน์ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ และผลกำไร ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้คดีนี้โจทก์จะมิได้ฟ้องแบ่งปันกำไรแต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าแทนและค่าผลประโยชน์จากจำเลยอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนสามัญมีหนี้สินเพียงใด โดยโจทก์จะต้องร้องขอให้ตั้งผู้ชำระบัญชีก่อนเมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,087,139 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ จำเลย นายพิศณุเกียรติ บุณยเกียรติ และนายอธิคมเพชรสีขาว ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนรับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนในวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส จากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนราธิวาส เป็นเงิน 3,358,420 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกเป็นเงิน 1,500,000 บาท (ไม่หักภาษี) งวดที่ 2 เป็นเงิน1,858,420 บาท (ไม่หักภาษี) โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ส่วนจำเลยนายพิศณุเกียรติ และนายอธิคมเป็นผู้ดำเนินการและควบคุมการก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จและเบิกเงินค่าจ้างมาแล้วให้หักเงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ออกไปก่อนคืนแก่โจทก์ หากเหลือผลกำไรสุทธิเท่าใดจึงแบ่งให้แก่หุ้นส่วนทั้ง 4 คนเท่ากัน จำเลยไม่ได้เสนอหรือตกลงให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ ในการที่โจทก์วางเงินค้ำประกันการทำงานของจำเลยแต่อย่างใด การวางเงินค้ำประกัน 170,000 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องออกไปก่อนตามข้อตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน จำเลยและหุ้นส่วนคนอื่นไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยและหุ้นส่วนคนอื่นไม่เคยเสนอหรือตกลงให้ค่าผลประโยชน์เป็นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ จากการที่จำเลยได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย ในการดำเนินการควบคุมการก่อสร้างจนเสร็จจำเลยเบิกเงินไปจากโจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 912,798 บาท จำเลยได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายอีก 3 รายการ รวมเป็นเงิน 578,142 บาท(ที่ถูก 587,142 บาท) เป็นการจัดการโดยเครดิตและโดยเงินของจำเลยเองไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์อ้างและเรียกร้องมาเป็นเงิน 582,203 บาท (ที่ถูก 587,139 บาท)นั้น ไม่ทราบว่าเป็นค่าเสียหายอะไร เพราะโจทก์ไม่ได้เสียหายในส่วนนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เข้าใจว่าค่าเสียหายในส่วนนี้มาจากไหน ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม หลังจากจำเลยคืนเงินค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อคำนวณถึงเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายที่จำเลยจะได้รับอีกเป็นเงิน 1,858,420 บาท กิจการของหุ้นส่วนจะได้กำไรสุทธิเป็นเงิน 215,994 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 251,994 บาท) ซึ่งหุ้นส่วนแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งกำไรเท่ากันคนละ 62,998.50 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบโดยไม่โต้เถียงกันว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์และจำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนรับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนในวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาสจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนราธิวาสในราคา 3,350,000 บาท แบ่งชำระค่าจ้างเป็น 2 งวด โจทก์ลงหุ้นเป็นเงินโดยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ส่วนจำเลยลงแรงงานโดยเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2542 จำเลยได้รับเงินค่าจ้างงวดแรก เป็นเงิน1,500,000 บาท และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่055-5-00140-1 ซึ่งโจทก์และจำเลยร่วมกันเปิดไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขานราธิวาส เพื่อเป็นบัญชีหมุนเวียนในกิจการดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีอำนาจสั่งจ่ายเช็คเพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายเงิน 218,603 บาท ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ซึ่งต่อมาจำเลยแก้ไขวันที่สั่งจ่ายเป็นวันที่ 16 เมษายน 2542 เพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนราธิวาสทักษิณคอนกรีต ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.9 ฉบับที่สองสั่งจ่ายเงิน345,000 บาท ลงวันที่ 15 มีนาคม 2542 เพื่อชำระหนี้ค่าอะลูมิเนียมและค่าแรงตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.6 และฉบับที่สามสั่งจ่ายเงิน 23,539 บาท ลงวันที่ 15มีนาคม 2542 เพื่อชำระหนี้ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.5นอกจากนี้จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 912,798 บาท ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ให้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โจทก์มาฟ้องมูลละเมิดเรียกค่าเสียหายอ้างว่าจำเลยถอนเงินตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.6 แล้วไม่นำไปชำระหนี้ค่าอะลูมิเนียมและค่าแรง กับค่าเสียหายในการที่จำเลยแก้ไขจำนวนเงินที่สั่งจ่ายจาก23,539 บาท เป็น 242,139 บาท รวมเป็นเงิน 587,139 บาท ฟ้องเรียกค่าตอบแทนเป็นเงิน 200,000 บาท ในการที่โจทก์วางเงินค้ำประกันการทำงานของจำเลยและฟ้องเรียกค่าผลประโยชน์เป็นเงิน 300,000 บาท จากการที่จำเลยตกลงให้โจทก์เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายมาแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหาย ค่าตอบแทน และค่าผลประโยชน์ตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญรับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนในวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาสจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนราธิวาสเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวเสร็จและได้รับเงินค่าจ้างครบถ้วนแล้ว ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกัน เพราะเสร็จการนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1055(3) แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า หลังจากจำเลยได้รับเงินค่าจ้างงวดแรกเป็นเงิน 1,500,000 บาท จำเลยยินยอมคืนเงินลงทุนให้แก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่โจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกันเรื่องจำนวนผู้เป็นหุ้นส่วน จำนวนเงินที่โจทก์ลงทุนไป จำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่บุคคลภายนอกตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.6 และ จ.5 ค่าตอบแทนและค่าผลประโยชน์ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์และผลกำไร ดังนี้ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้คดีนี้โจทก์จะมิได้ฟ้องแบ่งปันกำไรก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าตอบแทนและค่าผลประโยชน์จากจำเลยอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนสามัญมีหนี้สินเพียงใด โดยโจทก์จะต้องร้องขอให้ตั้งผู้ชำระบัญชีก่อน เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน