คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสาร สทก.1 ซึ่งมีเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ได้รับสิทธิตามเอกสารนี้ทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม แม้ในหนังสือเอกสารสิทธิ สทก.1 ของที่ดินพิพาทจะระบุว่าอนุญาตให้มีกำหนด 5 ปี เท่านั้น นับถึงวันที่ 30 กันยายน 2531 ก็ตามแต่เมื่อครบกำหนด 5 ปี ยังไม่มีการเพิกถอน สทก.1 ดังกล่าว แสดงว่าที่ดินพิพาทยังมีเอกสารสิทธิ สทก.1 อยู่ แม้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นการซื้อขายที่ดินที่ทางราชการมีข้อกำหนดห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จำเลยที่ 1 มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองก็ตาม โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ตามเอกสารสิทธิ สทก.1 ดังนั้นข้อตกลงยินยอมของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทจึงไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะตกลงยินยอมกับโจทก์อย่างไรก็ตาม เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อีกทั้งจุดประสงค์ของการใช้เส้นทางพิพาทก็เพื่อโจทก์จะได้สามารถเข้าไปสู่ที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อที่ว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทอย่างไรจึงไม่เป็นข้อสาระอันควรแก่การวินิจฉัย เพราะถึงอย่างไรก็ตามจำเลยทั้งสองก็มีสิทธที่จะห้ามมิให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทได้อยู่แล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองมิให้ปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรื้อสิ่งกีดขวางกับต้นไม้ที่นำมาปลูกบนทางพิพาทออกไป หากจำเลยทั้งสองไม่รื้อให้โจทก์รื้อถอนออกไปโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 18,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งกีดขวางและเปิดทางพิพาทให้โจทก์เข้าออกได้ตามปกติ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง กล่าวคือ จำเลยทั้งสองไม่เคยสละสิทธิครอบครองที่ดินทางพิพาทและไม่ได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ตัดต้นกาแฟ 40 ต้น เพื่อเป็นทางเข้าออกการที่โจทก์ตัดฟันต้นกาแฟและต้นไม้อื่นบนที่ดินของจำเลยทั้งสองทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 25,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนหลักไม้แก่นและรั้วลวดหนามออกจากที่ดินพิพาท หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,850 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราวันละ 150 บาท ไปจนกว่าจะรื้อถอนรั้วดังกล่าวออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทกว้าง 2 วา นับแต่ทางสาธารณะเข้าหมู่บ้านจนถึงที่ดินของโจทก์ตามที่ปรากฏในแผนที่กลางเอกสารหมาย จ.ล.1 ตำแหน่ง ก ถึง ค และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนหลักไม้แก่นและรั้วลวดหนามออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์กับบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์กับบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นแรกว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์หรือไม่ และการซื้อขายที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสาร สทก.1 ซึ่งมีเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ได้รับสิทธิตาม สทก.1 นี้ ทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปยังบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม แม้ในหนังสือเอกสารสิทธิ สทก.1 ของที่ดินพิพาทจะระบุว่าอนุญาตให้มีกำหนด 5 ปีเท่านั้น นับถึงวันที่ 30 กันยายน 2531 ก็ตาม แต่ในข้อนี้ได้ความจากนายพนม เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ สำนักงานป่าไม้ชุมพร พยานจำเลยทั้งสองว่าในการออกเอกสารสิทธิ สทก. 1 นั้น ทางราชการจะออกให้แก่ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ คราวละ 5 ปี แต่เมื่อครบ 5 ปี แล้ว กรมป่าไม้จะออกสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินการออกเอกสารสิทธิเป็น สทก.2 โดยเฉพาะเมื่อปี 2537 จำเลยที่ 1 เคยทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จนกระทั่งมีการตรวจสอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ สทก.1 ในที่ดินพิพาท ซึ่งทางป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีตรวจสอบแล้วยืนยันว่า สทก.1 ของที่ดินพิพาทยังไม่ได้มีการเพิกถอนแต่อย่างใด รายละเอียดปรากฎ แสดงให้เห็นว่าในปี 2537 ที่ดินพิพาทยังมีเอกสารสิทธิ สทก. 1 อยู่ดังนั้นที่โจทก์อ้างว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในปี 2533 นั้น เห็นว่า แม้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทจริงดังที่โจทก์ว่า ก็เป็นการซื้อขายที่ดินที่ทางราชการมีข้อกำหนดห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จำเลยที่ 1 มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองก็ตาม โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์หรือไม่ เฉพาะประเด็นข้อนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ประเด็นข้อที่สองมีว่า จำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทเป็นทางเข้าออกมีกำหนด 3 ปี หรือตลอดไปหรือไม่นั้น ในปัญหาข้อนี้เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ตามเอกสารสิทธิ สทก.1 ดังที่วินิจฉัยมาแล้วอีกทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบว่า ยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทเข้าไปเก็บผลกาแฟในที่ดินพิพาทเพียง 3 ปี เท่านั้น เพื่อเป็นการหักหนี้กัน ดังนั้นข้อตกลงยินยอมของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทจึงไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะตกลงยินยอมกับโจทก์อย่างไรก็ตาม เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อีกทั้งจุดประสงค์ของการใช้เส้นทางพิพาทก็เพื่อโจทก์จะได้สามรถเข้าไปสู่ที่ดินพิพาทเท่านั้น ข้อที่ว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทอย่างไรจึงไม่เป็นข้อสาระอันควรแก่การวินิจฉัยเพราะถึงอย่างไรก็ตามจำเลยทั้งสองก็มีสิทธิที่จะห้ามมิให้โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทได้อยู่แล้ว ส่วนประเด็นมีว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเคลือบคลุมหรือไม่ และฟ้องแย้งในเรื่องละเมิดเกี่ยวกับการตัดฟันไม้ในที่ดินพิพาท ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกขึ้นวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองโดยให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์กับบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปนั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ.

Share