คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยได้มีประกาศเรื่องพนักงานหลับในเวลาปฏิบัติ หน้าที่ว่าต้องพิจารณาโทษใช้เป็นระเบียบปฏิบัติอยู่แล้วต่อมาจำเลยออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานห้ามพนักงานหลับนอนในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยกำหนดโทษว่าตักเตือนก่อน 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ดังนี้ แม้พนักงานจำเลยจะนอนหลับระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก่อนออกระเบียบ 2 ครั้ง และภายหลังออกระเบียบ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันและจำเลยได้ตักเตือนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างพนักงานผู้นั้นได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเท่ากับในขณะก่อนถูกเลิกจ้าง โดยจ่ายค่าจ้างย้อนหลังนับแต่วันถูกเลิกจ้าง หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน คือ นอนหลับระหว่างเวลาปฏิบัติงานรวม 4 ครั้งจำเลยได้เตือนโจทก์ด้วยวาจาสำหรับการกระทำผิดครั้งแรก ตักเตือนเป็นหนังสือสำหรับการกระทำผิดครั้งที่ 2 ที่ 3 เมื่อกระทำผิดครั้งที่ 4 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดไว้ในข้อบังคับเรื่องวินัยว่า ห้ามหลับนอนในขณะปฏิบัติหน้าที่ และเรื่องการลงโทษ ให้พิจารณาโทษดังนี้ การกระทำผิดครั้งที่ 1 ตักเตือนด้วยวาจา ครั้งที่ 2 ตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษร ครั้งที่ 3 ตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 4 ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายเงินชดเชยใด ๆ ก่อนจำเลยจะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนี้ จำเลยได้มีประกาศเรื่องพนักงานหลับในเวลาปฏิบัติหน้าที่ให้ต้องพิจารณาโทษใช้เป็นระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้จำเลยจะไม่ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจำเลยก็มีสิทธิที่จะพิจารณาโทษผู้กระทำความผิดได้โดยอาศัยประกาศดังกล่าว คดีนี้ ปรากฏว่าโจทก์นอนหลับระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก่อนออกระเบียบข้อบังคับ 2 ครั้ง ภายหลังออกระเบียบข้อบังคับแล้วอีก 2 ครั้ง รวม 4 ครั้ง เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันโดยครั้งแรกได้รับการตักเตือนด้วยวาจา ครั้งที่ 2 ที่ 3 ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแต่แล้วโจทก์ยังคงฝ่าฝืนกระทำความผิดซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 4 ดังนี้ การกระทำของโจทก์ย่อมถือได้ว่าผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยได้มีการตักเตือนทั้งด้วยวาจาและหนังสือตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนั้น จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

Share