คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มีมารดาเป็นไทยและเกิดในประเทศไทยย่อมมีสัญชาติเป็นไทยแม้จะมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และถ้าหากบิดาของจำเลยที่ 2 ได้แปลงชาติเป็นไทยแล้วขณะที่จำเลยที่ 2 สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ถือว่าจำเลยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวขณะที่ทำการสมัคร จะขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งไม่ได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ผู้ร้อง ร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ โดยโจทก์ร้องว่าเป็นผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปตามกฤษฎีกาลงวันที่ 7 ตุลาคม 2500 การเลือกตั้งครั้งนั้นนายไกรสร ตันติพงษ์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 รับสมัครของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 พรางความจริงในเรื่องที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวไว้ ตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 บัญญัติไว้ว่าผู้ที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในมาตรา 17(1) 1 ก, 1, 2 และ 3 ด้วย นอกจากจะมีความรู้มัธยม 6 แล้ว จะต้องเคยรับราชการทหาร เคยเป็นหรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สภาอื่น หรือ ตำแหน่งที่กำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 2 มิได้มีคุณสมบัติเหล่านี้ และแม้ว่าบิดาจำเลยได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติแล้ว แต่ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 12 บัญญัติว่า การแปลงชาติเป็นไทยให้มีผลเฉพาะตัว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับผลอย่างใดตามบิดา และคงได้ชื่อว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวอยู่ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 2 เสีย และให้มีการเลือกตั้งใหม่

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ต้องกันใจความว่า จำเลยเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2472 โดยมารดาเป็นคนไทย ส่วนบิดานั้นเดิมเป็นคนต่างด้าวก็จริง แต่เมื่อ พ.ศ. 2496 ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติ ในเวลายื่นใบสมัครรับเลือกตั้งจำเลยที่ 2 และบิดาจำเลยที่ 2 มิได้เสียสัญชาติไทย จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาตาม มาตรา 17(1) ก 1-2-3 นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 สอบไล่ได้มัธยมปีที่ 6 และได้รับเกณฑ์ทหาร แต่หากยังไม่ได้เข้าประจำการเพราะจับสลากไม่ได้ จึงขอให้ยกคำร้องของโจทก์

คู่ความรับกันว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบิดาคนจีน ต่อมา พ.ศ. 2496 บิดาได้ขอแปลงชาติเป็นไทยมาจนบัดนี้ จำเลยที่ 2 สำเร็จมัธยม 6 และเคยถูกเกณฑ์ทหาร แต่ยังไม่เคยเข้าประจำการจำเลยไม่เคยมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2499 มาตรา 17(1) (ก) 2 และ 3 และขอให้ศาลวินิจฉัยโดยไม่สืบพยาน โดยศาลชั้นต้นทำความเห็นส่งมาศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้อ้างเหตุที่คัดค้านว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีมารดาเป็นไทย และมิได้เกิดในประเทศไทย ฉะนั้นไม่ว่าจะโดย พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับใด จำเลยที่ 2 ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด และต่อมาจำเลยที่ 2ก็มิได้แปลงชาติเป็นจีนตามบิดาจึงไม่ขาดคุณสมบัติดังคำร้องโจทก์

Share