แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติ รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27,45 จำเลย ให้การรับสารภาพว่า กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยมิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยในความผิดฐานอื่น มิใช่ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง และกรณีไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าพนักงานสอบสวนมิได้สอบสวนจำเลยในข้อหาที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ก็ตามแต่การวินิจฉัย ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริง ที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะแนบสำเนาเอกสารบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหา คำให้การของผู้ต้องหา รวมทั้งสำเนาหนังสือของสำนักงานเขต ที่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลย ในความผิด ฐานไม่ไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็น ภูมิลำเนาทหารของจำเลย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 25 และ 44 มากับ คำฟ้องฎีกา แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวไม่เพียงพอ ให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนจำเลย ในความผิดที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าพนักงานอัยการโจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติ รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27,45 จึงรับฟังมิได้ โจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาลแขวง จำเลยให้การรับสารภาพผิดต่อศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยจึงชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุ ที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์หรือพิพากษา แก้เป็นลงโทษจำเลยในความผิดฐานอื่นนอกเหนือ ไปจากคำฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2541 เวลากลางวันจำเลยซึ่งเป็นทหารกองเกิน มีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ด ปีในปี 2540ได้หลีกเลี่ยงขัดขืนตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ. 2497 มาตรา 27, 45
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27, 45 ลงโทษจำคุก 4 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องด้วยวาจามีใจความโดยสรุปว่าจำเลยซึ่งเป็นทหารกองเกินและได้รับหมายเรียกให้เข้ารับราชการทหารแล้วอีกทั้งได้ทราบประกาศของสำนักงานเขตจตุจักรที่แจ้งให้จำเลยไปแสดงตนต่อคณะกรรมการการตรวจเลือกทหารในวันที่ 5 เมษายน 2541 เพื่อรับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการได้หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปแสดงตนต่อคณะกรรมการตรวจเลือกทหารณ ภูมิลำเนาทหารของจำเลย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27, 45 จำเลยให้การรับสารภาพว่า กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง โดยมิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยในความผิดฐานอื่น มิใช่ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องกรณีไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าพนักงานสอบสวนมิได้สอบสวนจำเลยในข้อหาที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ดังนั้น แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ก็ตามแต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในปัญหาดังกล่าว แม้จำเลยจะแนบสำเนาเอกสารบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหา คำให้การของผู้ต้องหารวมทั้งสำเนาหนังสือของสำนักงานเขตจตุจักรที่ กท.9041/3204ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ที่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานไม่ไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของจำเลยอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 25 และ 44 มากับคำฟ้องฎีกา แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวไม่เพียงพอให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนจำเลยในความผิดที่โจทก์ฟ้องดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27, 45จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพผิดต่อศาลชั้นต้นโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องหรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี จึงชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์หรือพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยในความผิดฐานอื่นนอกเหนือไปจากคำฟ้องได้”
พิพากษายืน