คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ น. ปลัดอำเภอเมืองระนองซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) และการที่จำเลยแจ้งให้ น. จดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบบันทึกคำให้การรับรองบุคคลอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ อ. พวกของจำเลยตามฟ้องข้อ (ข) นั้น เป็นการกระทำในวันเดียวกัน เวลาต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว ส่วนการที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งต่อ น. ว่า อ. พวกของจำเลยคือ ว. สัญชาติไทยอันเป็นความเท็จ ขอโอนย้ายทะเบียนบ้านจากบ้านเลขที่ 21/5 หมู่ที่ 1 ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เข้าอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 76/23 ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตามฟ้องข้อ (ค) ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ มาตรา 50 วรรคหนึ่งนั้น จำเลยกระทำภายหลังจากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) สำเร็จแล้ว โดยมีเจตนาเพื่อให้มีชื่อ ว. ที่ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลยในทะเบียนบ้านเลขที่ 76/23 ดังกล่าว อันเป็นการกระทำคนละเจตนาและต่างกรรมต่างวาระเป็นคนละส่วนกับการกระทำในฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดสองกรรมมิใช่ความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 กฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้กระทำความผิดไว้เฉพาะตัวว่า “ผู้ใดไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตร…” แต่จำเลยมีสัญชาติไทยการกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย แต่ฟังได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนซึ่งลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และฐานเป็นผู้สนับสนุนตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำคุก 1 ปี ฐานแสดงหลักฐานเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม ฐานแจ้งความเท็จ ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานแสดงหลักฐานเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายนที แสงสิริโรจน์ ปลัดอำเภอเมืองระนอง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) และการที่จำเลยแจ้งให้นายนทีจดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบบันทึกคำให้การรับรองบุคคลอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายเอื้อย อุ่นคำ พวกของจำเลยตามฟ้องข้อ (ข) นั้น เป็นการกระทำในวันเดียวกัน เวลาต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว ส่วนการที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งต่อนายนทีว่านางเอื้อยพวกของจำเลยคือนางสาววาสนา นิยมรัฐ สัญชาติไทย อันเป็นความเท็จ ขอโอนย้ายทะเบียนบ้านจากบ้านเลขที่ 21/5 หมู่ที่ 1 ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เข้าอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 76/23 ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตามฟ้องข้อ (ค) ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2530 มาตรา 50 วรรคหนึ่งนั้น จำเลยกระทำภายหลังจากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก) และ ข้อ (ข) สำเร็จแล้ว โดยมีเจตนาเพื่อให้มีชื่อนางสาววาสนาที่ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลยในทะเบียนบ้านเลขที่ 76/23 ดังกล่าว อันเป็นการกระทำคนละเจตนาและต่างกรรมต่างวาระเป็นคนละส่วนกับการกระทำในฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดสองกรรมมิใช่ความผิดกรรมเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 กำหนดคุณสมบัติของผู้กระทำความผิดไว้ว่า ต้องเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่จำเลยมีสัญชาติไทย การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ฉบับเดิม ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 โดยให้ใช้ข้อความใหม่ว่า “ผู้ใด (1) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตร…” ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีนี้กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะเป็นคนสัญชาติไทย การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องข้อ (ก) ก็ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่แล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องข้อนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้พิพากษาแก้ในปัญหาข้อนี้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตร จำเลยมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share