คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ข้อพิพาทซึ่งได้ฟ้องร้องกันไว้ก่อนทำสัญญาย่อมระงับสิ้นไปด้วย เว้นแต่จะได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้
เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ละข้อมีความสมบูรณ์เป็นเอกเทศต่างหากจากกัน มิได้เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตอบแทนกัน แม้ฝ่ายหนึ่งปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งก็หาเป็นผลให้ข้อพิพาทซึ่งระงับสิ้นไปแล้วตามสัญญาอีกข้อหนึ่งยังไม่ระงับไปไม่
เมื่อศาลได้วินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีเห็นว่า สิทธิในการดำเนินคดีต่อไป หรืออำนาจฟ้องของโจทก์ระงับสิ้นลงโดยผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยได้ตกลงกันทำขึ้นภายหลังฟ้องคดี ซึ่งศาลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จึงชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่า สัญญาที่จำเลยส่งศาลตามคำแถลงลงวันที่ 17 กันยายน 2523 ซึ่งเป็นสัญญาฉบับเดียวกันกับที่จำเลยส่งศาลพร้อมคำร้องลงวันที่ 13 ตุลาคม 2523 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมีผลให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยคดีนี้ระงับไปด้วยจริงหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาฉบับนี้ลงวันที่ 5 กันยายน 2523 ในบรรทัดแรกระบุว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ นางรัตนา ภาสวรวิทย์ กับนายรุ่งโรจน์ ตระการกิจวิชิต นางสุรางค์ตระการกิจวิชิต ฝ่ายที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และ นางสาวอุมาลีตระการกิจวิชิต ฝ่ายที่ 2 ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงทำสัญญากันไว้มีข้อความว่า

ข้อ 1 ทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้และหรือซึ่งจะมีต่อไปในภายภาคหน้าในเรื่องเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ยนต์บริการ และในเรื่องเกี่ยวกับบริษัทตระการกิจ จำกัด กับในเรื่องส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับห้างและบริษัทดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายจะได้ถอนฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ยื่นฟ้องอีกฝ่ายหนึ่งต่อศาลทุกคดี ภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ ทั้งนี้ยกเว้นคดีแพ่งของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ 6498/2523 ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงให้ดำเนินคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด สำหรับกรณีที่ทั้งสองฝ่ายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทุกคดี ต่างฝ่ายจะไปถอนคำร้องทุกข์หรือระงับการดำเนินคดีภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้” ฯลฯ

“ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความในบรรทัดแรกของสัญญาฉบับนี้ซึ่งเสมือนเป็นชื่อของสัญญา ก็ระบุว่าสัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อได้พิจารณาข้อความในสัญญาฉบับนี้ทั้งหมดตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 13 ก็ปรากฏว่าล้วนแต่เป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ระหว่างกันในขณะทำสัญญารวมทั้งที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้าทุกคดี ทั้งคดีที่พิพาทกันอยู่แล้วในศาลทุกศาลและคดีที่เพียงแต่ได้ร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวน โดยทั้งสองฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน โดยต่างฝ่ายจะไปถอนฟ้องและถอนคำร้องทุกข์ให้คดีระงับไปและยังได้ตกลงผ่อนผันให้แก่กันเกี่ยวกับกิจการ ทรัพย์สิน การเงินและหนี้สินของห้างโจทก์และบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งทั้งสองฝ่ายประกอบกิจการร่วมกันมาก่อนให้เสร็จสิ้นไป โดยเฉพาะสัญญาข้อ 11 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าหนี้สินและภาระผูกพันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างกันก่อนวันทำสัญญานี้ให้ถือว่าเป็นพับไป ยกเว้นเรื่องที่ดินที่พิพาทกันในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6498/2523 เมื่อโจทก์รับว่าได้ทำสัญญาฉบับนี้กับจำเลยจริง สัญญาฉบับนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทั้งฝ่ายโจทก์ทั้งฝ่ายจำเลยมุ่งประสงค์จะให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ซึ่งได้ฟ้องร้องกันไว้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2523 ก่อนวันที่โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังกล่าวระงับสิ้นไปด้วย ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อฝ่ายจำเลยขัดขวางมิให้โจทก์ขนย้ายเครื่องอุปกรณ์และอะไหล่รถแทรกเตอร์ออกไปจากโกดังตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยคดีนี้จึงยังไม่ระงับลงนั้น เห็นว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยที่ให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดซึ่งมีอยู่ในขณะทำสัญญาและหรือซึ่งจะมีต่อไปในภายภาคหน้านั้น ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 1 โดยตกลงกันให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการให้คดีทั้งหลายที่ต่างได้ฟ้องร้องกันไว้เสร็จสิ้นลงโดยต่างต้องไปถอนฟ้องเสียภายในกำหนด 7 วันเท่านั้น ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์จะต้องขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจากโกดังเลขที่ 172 ซอยพงษ์เวชอนุสรณ์ถนนสุขุมวิท ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครนั้น รวมอยู่ในข้อ 2 ซึ่งเป็นข้อตกลงเรื่องที่ฝ่ายโจทก์ตกลงโอนหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ให้กับฝ่ายจำเลย และฝ่ายโจทก์จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ซึ่งตามสัญญาข้อนี้กำหนดให้โจทก์ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อตกลงระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยตามข้อ 1 และข้อ 2 มิได้เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตอบแทนกัน แต่เป็นเรื่องที่สัญญาแต่ละข้อดังกล่าวมีความสมบูรณ์เป็นเอกเทศต่างหากจากกัน ดังนั้นถึงหากฝ่ายจำเลยจะทำการขัดขวางมิให้โจทก์ขนย้ายเครื่องอุปกรณ์และอะไหล่รถแทรกเตอร์ออกไปจากโกดังดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 2 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับให้ฝ่ายจำเลยปฏิบัติตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ตามสัญญาข้อ 13 แต่หาเป็นผลให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้ซึ่งระงับสิ้นไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ยังไม่ระงับไปดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

แต่ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้เสียจากสารบบความโดยถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยดังกล่าวมีผลให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในคดีระงับสิ้นลง จึงไม่มีประโยชน์ที่จะฟ้องร้องคดีนี้ต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีแห่งคดีนี้เป็นการที่ศาลได้วินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีว่า สิทธิในการดำเนินคดีต่อไปหรืออำนาจฟ้องของโจทก์ระงับสิ้นลงโดยผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยได้ตกลงกันกระทำขึ้นนั้น ซึ่งศาลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จึงชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”

Share