คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นหนี้ตามกฎหมายที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้าง โดยมิต้องคำนึงถึงว่าการเลิกจ้างนั้นนายจ้างได้ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ และถ้าการเลิกจ้างนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างนายจ้างก็จะต้องชำระแก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้ทำความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับให้จ่ายค่าชดเชย

จำเลยให้การว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและให้จ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ ซึ่งจำเลยได้จ่ายให้โจทก์ไปแล้ว และเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนค่าชดเชย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างแก่โจทก์อีก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยนี้ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้าง ฉะนั้น หนี้ค่าชดเชยจึงเป็นหนี้ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องชำระแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง โดยมิต้องคำนึงถึงว่าการว่าจ้างนั้นนายจ้างได้ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 121 และ123 ว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ และถ้าการเลิกจ้างนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง นายจ้างก็มีหนี้ที่ต้องชำระแก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าชดเชย ดังนั้น แม้จำเลยจะได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไปแล้วและเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยก็หาทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่

พิพากษายืน

Share