แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของบริษัทว. อ้างว่าผู้เข้าประชุมถือหุ้นไม่ถึงร้อยละเจ็ดสิบของหุ้นทั้งหมดในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าด.ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งได้ขายหุ้นจำนวน3,398หุ้นให้แก่ม. และม.ได้โอนหุ้นให้แก่ค. หรือไม่ซึ่งประเด็นดังกล่าวศาลได้วินิจฉัยไว้ในคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่งที่ด. ฟ้องบริษัทว.,ม.,ค.กับพวกอีก2คนเป็นจำเลยว่าด. ได้ขายหุ้นดังกล่าวให้แก่ม.และม. ได้โอนหุ้นให้แก่ค. แล้วประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยแล้วนี้เกี่ยวกับประเด็นในคดีนี้โดยตรงแม้โจทก์จะเป็นคนละคนก็นำมารับฟังในคดีนี้ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย ครั้งที่ 1/2522 ทั้งหมด
จำเลยให้การว่าจำเลยจัดให้มีการประชุมโดยชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทจำเลยได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2522ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 และมีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมคือ นายเมย์ลิง อาแบร์เล่ นายเวคิน สุวรรณคิรี โดยานพิสิทธิก่อวุฒิกุลรังษี ผู้รับมอบฉันทะ นายสุนัย ละอองศรี โดยนายพิสิทธิก่อวุฒิกุลรังษี ผู้รับมอบฉันทะเด็กหญิงมาร์ทีน่า อาแบร์ล่า โดยนายเมย์ลิง อาแบร์ล่า ผู้แทนโดยชอบธรรม นางวิเวียน มหาศิริ โจทก์โดยนายณรงค์ วิทยไพศาล ผู้รับมอบฉันทะ ที่ประชุมมีมติให้เพิกถอนโจทก์ออกจากกรรมการของบริษัทจำเลย เมื่อโจทก์ทราบได้ทักท้วงและขอให้จำเลยเพิกถอนมติดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉยกลับนำมติดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนจดทะเบียนถอนโจทก์ออกจากกรรมการบริษัทจำเลย ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ นางสาวดวงมณี เลียวไพรัตน์ได้เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทจำเลย นายเมย์ลิง อาแบร์ล่า นายเวคินสุวรรณคีรี นายธนิน บุษราคัมวงษ์ และนายทามคินหว่าเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง ปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ 1432/2523 หมายเลขแดงที่76663/2524 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ขายหุ้นตามฟ้องให้กับจำเลยที่ 2 (นายเมย์ลิง อาแบร์ล่า) และจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 (นายเวคิน สุวรรณคีรี) เป็นผู้รับโอนหุ้นตามฟ้องแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
พิเคราห์แล้ว ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉียคดีนี้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยและผลแห่งคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1432/2523 หมายเลขแพงที่ 7663/2524ระหว่างนางสาวดวงมณี เลียวไพรัตน์ โจทก์ บริษัทแวร์ แอนด์ แวร์มาเก็ตติ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด กับพวก จำเลย เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อเท็จจริงและผลแห่งคำพิพากษาในคดีดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ เพราะคดีทั้งสองมีคู่ความเป็นคนละรายกัน โจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนั้นแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 7663/2524 ของศาลแพ่งที่ว่า นางสาวดวงมณี เลียวไพรัตน์ โจทก์ได้ขายหุ้นจำนวน3,398 หุ้นให้แก่นายเวคิน สุวรรณคีรี จำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวไปแล้วใช่หรือไม่ มีความเกี่ยวพันกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้โดยตรง แม้ว่าโจทก์ทั้งสองคดีจะเป็นคนละคนกันและมิใช่คู่ความในคดีเดียวกันก็ตาม เพราะก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยคดีนี้ว่า การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2522 ของบริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมดหรือไม่นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า นางสาวดวงมณี เลียวไพรัตน์ ยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยขณะที่บริษั่จำเลยจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2522 หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวดวงมณี เลียวไพรัตน์ ยังเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 3,398 หุ้นในบริษัทจำเลยขณะที่มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่1/2522 แล้ว การประชุมดังกล่าวจะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมด แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวดวงมณี เลียวไพรัตน์ ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 3,398หุ้น ในบริษัทจำเลยขณะที่มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2522 โดยนางสาวดวงมณี ได้ขายหุ้นจำนวน 3,398 หุ้นให้แก่นายเมย์ลิง อาแบร์ล่า และ นายเมย์ลิง อาแบร์ล่า ได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่นายเวคิน สุวรรณคีรีแล้ว การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2522 ของบริษัทจำเลยจะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันเกินกว่ากร้อยละ 70 คือเท่ากับร้อยละ 86 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ดังนั้น ตามที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7663/2524 ของศาลแพ่งที่ฟังว่า นางสาวดวงมณีเลียวไพรัตน์ ได้ขายหุ้นจำนวน 3,388 หุ้น ให้แก่นายเมย์ลิงอาแบร์ล่า และนายเมย์ลิง อาแบร์ล่า ได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่นยเวคิน สุวรรณคีรี มาวินิจฉัยตัดสินในคดีนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ตรงกับประเด็นที่ได้กำหนดหน้าที่นำสืบและภาระการพิสูจน์ไว้ในคดีนี้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฯลฯ
พิพากษายืน.