คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 สรุปใจความได้ว่า จำเลยที่ 1อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยอ้างเหตุในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายสั่งให้จำเลยที่ 1 หยุดตัดอ้อยเอง จึงมีประเด็นในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยที่ปลูกทำลงไว้ตามสัญญาโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วนำไปขายให้บุคคลอื่นทั้งหมดไม่ส่งมอบแก่โจทก์ แต่กลับได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ปลูกอ้อยตามข้อตกลงกับโจทก์แล้ว โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในนามของโจทก์ 7 คันรถบรรทุก มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1ตัดอ้อยรายพิพาทไปขายให้บุคคลอื่นทั้งหมดโดยไม่ส่งมอบแก่โจทก์เมื่อจำเลยตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในนามของโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ยอมจ่ายค่ารถบรรทุกอ้อยให้แก่จำเลยที่ 1 และไม่ยอมคืนใบชั่งน้ำหนักอ้อยให้แก่จำเลยที่ 1 พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่ ไม่ยอมคิดบัญชีและชำระราคาค่าอ้อยให้แก่จำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา หลังจากโจทก์ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ร้องเรียนโจทก์แต่ไม่อาจตกลงกันได้ และโจทก์ไม่เคยสั่งให้จำเลย ที่ 1นำอ้อยมา ตรวจ ความหวานหรือสั่งให้จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในนามของโจทก์อีก จนในที่สุดทางโรงงานน้ำตาลได้แยกโควต้าส่งอ้อยให้จำเลยที่ 1 ต่างหากในนามของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาการส่งอ้อยในส่วนที่เหลือโดยปริยายแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการทำไร่อ้อย รับซื้ออ้อยให้แก่โรงงาน จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการทำไร่อ้อย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม2524 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายอ้อยสดน้ำหนัก2,600 ตัน แยกส่งให้โจทก์เป็นรายปี ตั้งแต่ปี 2525 ถึง 2527ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งอ้อยหรือส่งอ้อยให้โจทก์ขาดจำนวนเกินกว่าร้อยละ 20 ยินยอมให้ปรับเมตริกตันละ 25 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินราคาอ้อยไปจากโจทก์แล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบอ้อยให้มีน้ำหนักตามจำนวนเงินราคาอ้อยที่ได้รับจากโจทก์นั้น ยินยอมชดใช้เงินเพิ่มเป็นค่าปรับอีกร้อยละ 3 ต่อเดือน ของเงินราคาที่ได้รับไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินราคาอ้อยไปจากโจทก์เป็นเงิน 79,250 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ทำการปลูกอ้อยตามสัญญาในที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยดังกล่าวโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและนำไปขายให้แก่บุคคลอื่นทั้งหมด โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบอ้อยให้โจทก์ทุกปี จำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินให้โจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 361,687 บาท โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้โจทก์จำเลยที่ 1ไม่ยอมชำระหนี้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 397,854 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาคดี โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาตและจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 104,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 79,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน4,573.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่10 กุมภาพันธ์ 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฝ่ายใดผิดสัญญาเป็นการวินิจฉัยนอกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อได้อ่านคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยตลอดแล้วสรุปได้ใจความว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยอ้างเหตุในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายสั่งให้จำเลยที่ 1 หยุดตัดอ้อยเอง จึงมีประเด็นในเรื่องนี้ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ด้วย ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการนอกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์ฎีกา
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่และจะต้องรับผิดค่าเสียหายต่อโจทก์หรือไม่จำนวนเท่าใดนั้น โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลเพียง 7 คันรถบรรทุกแล้วสั่งให้จำเลยหยุดตัดอ้อยตามที่จำเลยนำสืบมาและโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาซื้อขายอ้อยกับจำเลยที่ 1 โดยปริยายจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียวข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ปลูกอ้อยตามข้อตกลงกับโจทก์แล้ว โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในนามของโจทก์ 7 คันรถบรรทุกตามเอกสารหมาย ล.1 รวมเป็นอ้อยหนัก 137.32 ตันคิดเป็นเงิน 74,676.46 บาท มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยรายพิพาทไปขายให้บุคคลอื่นทั้งหมดโดยไม่ส่งมอบแก่โจทก์เลยตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งอ้อยส่วนที่ยังเหลืออยู่ในนามของโจทก์ต่อไปนั้น จำเลยที่ 1 นำสืบว่า โจทก์รับเงินค่าอ้อยงวดแรกตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว ไม่จ่ายค่าอ้อยแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ทราบว่าอ้อยตามเอกสารหมาย ล.1นั้นเป็นของผู้ใด เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า ในชั้นที่นายประยูร อ่อนแก้ว ไปขอเบิกค่ารถบรรทุกจากโจทก์ โจทก์ให้มาเอาใบชั่งน้ำหนักอ้อยจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้ให้นายประยูรไปและนายประยูรได้กลับมาบอกจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันว่า โจทก์ไม่ยอมจ่ายค่ารถบรรทุกอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้จ้างนายประยูร และไม่ยอมคืนใบชั่งน้ำหนักอ้อยดังกล่าวให้ด้วยน่าเชื่อว่าใบชั่งน้ำหนักอ้อยตามเอกสารหมาย ล.1 อยู่ที่โจทก์จริงตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมา จึงควรเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะตรวจสอบกับทางโรงงานน้ำตาลได้ว่าอ้อยตามเอกสารหมาย ล.1 นั้นเป็นอ้อยที่จำเลยที่ 1 ส่งให้จริงหรือไม่ เพราะในเอกสารดังกล่าวได้ระบุรายละเอียดต่าง ๆรวมทั้งวันเดือนปีที่ส่งอ้อยและหมายเลขทะเบียนรถไว้ทุกคันอยู่แล้วพฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่ไม่ยอมคิดบัญชีและชำระราคาค่าอ้อยในงวดนี้แก่จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยตามที่ฟ้องมาข้อเท็จจริงได้ความต่อมาว่า หลังจากที่โจทก์ไม่ยอมจ่ายค่าอ้อยแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ร้องเรียนโจทก์แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่อาจตกลงกันได้ และโจทก์ก็ไม่เคยสั่งให้จำเลยที่ 1 นำอ้อยมาตรวจความหวานหรือสั่งให้จำเลยที่ 1 ตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในนามของโจทก์อีก จนในที่สุดทางโรงงานน้ำตาลได้แยกโควตาส่งอ้อยให้จำเลยที่ 1 ต่างหากในนามของจำเลยที่ 1 เองแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกสัญญาการส่งอ้อยในส่วนที่เหลือจากจำนวน 7 คันรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งไปแล้วนั้นโดยปริยาย จำเลยที่ 1 หาได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดสัญญาไม่จึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share