คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3855/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหมายถึงป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ตั้งโรงเรียนเอกชนชื่อโรงเรียนศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์ธุรกิจร้อยเอ็ดและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองป้าย ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตรยาว 80 เซนติเมตร จำนวน 8 ป้าย มีรูปภาพคอมพิวเตอร์และคนนั่ง และมีอักษรภาษาอังกฤษ คำว่า “BCC” อยู่ในป้าย กับป้ายขนาดกว้าง 500 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตรจำนวน 1 ป้าย โดยมีรูปภาพคอมพิวเตอร์และคนนั่ง และอักษรภาษาอังกฤษคำว่า”BUSSINESS COMPUTER CENTER” อยู่ในป้าย จำเลยได้ติดตั้งป้ายทั้งหมดไว้นอกอาคารซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลของโจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510จำเลยติดตั้งป้ายทั้งหมดเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายและเงินเพิ่มตามมาตรา 25(1) เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายสำหรับปี 2540 และปี 2541 ถึง 2543 รวมทั้งสี่ปีเป็นเงิน 25,080 บาท จำเลยทราบการประเมินแล้วมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง กับมิได้ชำระเงินค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดในเงินเพิ่มอีกอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นหนึ่งเดือน นับแต่วันที่พ้นกำหนดในใบแจ้งประเมินของค่าภาษีป้ายนั้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นจำนวน 34,960.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 34,960.30 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ2 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นหนึ่งเดือนในหนี้ค่าภาษีจำนวน 22,800 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ป้ายพิพาทเป็นป้ายของโรงเรียนและติดตั้งหรือแสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนมีชื่อภาษาไทยของโรงเรียนด้วย ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 นอกจากนี้ป้ายพิพาทมีขนาดไม่เกิน 50 เซนติเมตร ทั้งด้านกว้างและยาว และป้ายใหญ่กว้างไม่เกิน 100เซนติเมตร ยาวไม่เกิน 200 เซนติเมตร และป้ายพิพาทมีภาษาไทยปนอยู่ด้วย ไม่ใช่มีเพียงภาษาต่างประเทศและภาพ ดังนั้น การคำนวณค่าภาษีป้ายพิพาทตามฟ้องจึงไม่ถูกต้อง จำเลยไม่เคยได้รับทราบการประเมิน โจทก์จึงคิดเงินเพิ่มตามมาตรา 25(3)ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรียนศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์ธุรกิจร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนพ.ศ. 2525 ป้ายพิพาทเป็นของโรงเรียนดังกล่าวติดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของโรงเรียนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายกับเงินเพิ่ม เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายสำหรับปี 2540 จำนวน 5,016 บาท สำหรับปี 2541 ปีละ 6,688 บาทรวมทั้งสี่ปีเป็นเงิน 25,080 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยต้องเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายพิพาทหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติยกเว้นภาษีป้ายสำหรับป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าป้ายใดจะถือเป็นป้ายของโรงเรียนเอกชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนคือพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดไว้ ซึ่งมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ที่โรงเรียนหรือบริเวณโรงเรียน ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย”ดังนั้น ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงหมายความถึงป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยตามบทบังคับของมาตรา 46 เท่านั้น ป้ายพิพาทมิใช่ป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงมิใช่ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น คดียังมีประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัยและคดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง สมควรให้มีการวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล

พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่

Share