แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ผู้จำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับจำนองจากการกระทำของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยในศาลชั้นต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคือมีสิทธิบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ได้หรือไม่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งแต่ก็หาตัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่จะบังคับชำระหนี้อันเกิดจากความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นตามสัญญาจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189(เดิม) และมาตรา 745ไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยแก่จำเลยที่ 2ได้ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินตามฟ้องของจำเลยที่ 2 มาจำนองเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาทจำเลยที่ 2 จึงมิใช่มีฐานะเป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เท่านั้นแต่เป็นผู้จำนองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 อาจก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วย ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้นั้นจากทรัพย์สินที่จำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189(เดิม)(มาตรา 193/27 ใหม่)และมาตรา 745 ได้ไม่ว่าหนี้ที่ค้ำประกันนั้นจะขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1ด้วยการทำสัญญารับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ทั้งถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แปลงหนี้ใหม่ โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นหรือยินยอมด้วยจำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่รับเงินออกใบเสร็จรับเงิน ตัดบัญชีและนำเงินที่สมาชิกของโจทก์นำมาชำระฝากธนาคาร โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมายทั้งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วยในการนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยจำนองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1261 ของจำเลยที่ 2 เป็นประกันหนี้ในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาท ไว้กับโจทก์ ระหว่างวันที่ 22กรกฎาคม 2521 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าหุ้นจากสมาชิกของโจทก์เป็นเงิน 139,074.43 บาท จำเลยที่ 1ได้กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 และไถ่ถอนจำนองแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน139,074.43 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2ออกขายทอดตลาด นำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยักยอกเงินของโจทก์ตามฟ้อง หากฟังว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1ยักยอกเงินไปไม่เกิน 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตกลงยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แล้วจึงต้องบังคับกันตามที่ตกลงนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายโดยอาศัยมูลหนี้เดิมอีก จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันตามมูลหนี้เดิมแล้ว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 139,074.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าแม้หนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้ว แต่ให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่จะบังคับชำระหนี้อันเกิดจากความเสียหายที่จำเลยที่ 1ก่อขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 (ก่อนแก้ไข) และมาตรา 745 นั้น เป็นการวินิจฉัยประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น อันเป็นการไม่ชอบหรือไม่ ในปัญหานี้ เห็นว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ผู้จำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับจำนองจากการกระทำของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยในศาลชั้นต้นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคือมีสิทธิบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ได้หรือไม่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า แม้ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคหนึ่งแล้ว แต่ก็หาตัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่จะบังคับชำระหนี้อันเกิดจากความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นตามสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 ผู้จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 (ก่อนแก้ไข) และมาตรา 745 ไม่นั้นเป็นการวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ได้ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าแม้คำฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับจำนองเอาชำระหนี้อันเกิดจากความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น เป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเพียงผู้ค้ำประกันนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินตามฟ้องของจำเลยที่ 2 มาจำนองเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายขึ้นแก่โจทก์จำเลยที่ 2ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาทจำเลยที่ 2 จึงมิใช่มีฐานะเป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เท่านั้นแต่เป็นผู้จำนองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 อาจก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วย ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้นั้นจากทรัพย์สินที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 เดิม (มาตรา 193/27 ใหม่)และมาตรา 745 ได้ ไม่ว่าหนี้ที่ค้ำประกันนั้นจะขาดอายุความหรือไม่
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยการทำสัญญารับสภาพหนี้ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นหรือยินยอมด้วยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 ทั้งถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แปลงหนี้ใหม่ตามเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นหรือยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดนั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน