แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หุ้นเป็นสิ่งซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ จึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 99
โจทก์ได้หุ้นมา ต้องถือว่าเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินซึ่งจะต้องนำมารวมเป็นรายได้ของโจทก์ในการคำนวณกำไรสุทธิโดยตีราคาหุ้นนั้นตามราคาที่พึงซื้อได้ตามปกติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65ทวิ(3)
การที่โจทก์จ่ายเงินซื้อหุ้นเดิมนั้นเป็นรายจ่ายที่บังเกิดผลเป็นการเพิ่มเติมทรัพย์สินของโจทก์ขึ้นมา ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนซึ่งจะนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65ทวิ(1) และ 65ตรี(5) และหุ้นเดิมของโจทก์นั้นก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์อยู่ตามเดิม ไม่ได้สูญหายไปไหน เจ้าพนักงานประเมินนำทรัพย์สินเฉพาะส่วนที่โจทก์ได้รับเพิ่มเติมมาคือหุ้นปันผล มารวมเป็นรายได้ในการคำนวณหากำไรสุทธิของโจทก์เท่านั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการประเมินภาษีของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร จำเลยให้การต่อสู้ว่าชอบแล้ว ศาลย่อมมีหน้าที่ยกบทกฎหมายมาปรับแก่คดีว่า การประเมินของจำเลยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่ ไม่ใช่วินิจฉัยนอกคำให้การ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด อยู่ 6,862 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยซื้อหุ้นดังกล่าวมาในราคาหุ้นละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,724,000 บาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตามใบหุ้นถึง 20 เท่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ได้ออกหุ้นปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราที่ผู้ถือหุ้น 1 หุ้นจะได้รับเงินปันผล 19 หุ้น ดังนั้นโจทก์จึงได้รับหุ้นปันผลมา 130,378 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 13,037,800 บาท เมื่อหักกับราคาหุ้นเดิมที่โจทก์ซื้อมา โจทก์ยังขาดทุนอยู่ 686,200 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจสอบบัญชีปี 2515 ของโจทก์แล้วมีความเห็นว่า การที่โจทก์ได้รับหุ้นปันผลมาเป็นมูลค่า 13,037,800 บาทนั้น เป็นเงินที่จะต้องนำมาคำนวณเป็นส่วนรายได้ของโจทก์ และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์เพิ่มเติมอีก 3,911,340 บาท กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 เป็นเงิน 782,264 บาท รวมเป็นเงิน 4,693,608 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 วินิจฉัยยืนตามเดิม โจทก์ชอบที่จะเสียภาษีกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ไม่ใช่เสียภาษีตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์มีหุ้นอยู่เดิม 6,862 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงินลงทุน 686,200 บาท ต่อมาธนาคารออกหุ้นปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนตามส่วนในอัตราหุ้นเดิม 1 หุ้น ได้รับแบ่งหุ้นใหม่ 19 หุ้น โดยผู้ถือหุ้นไม่ต้องออกเงินอย่างใด ฉะนั้น หุ้นปันผลจำนวน 130,378 หุ้น เป็นมูลค่า 13,037,800 บาทที่โจทก์ได้รับมาโดยไม่ต้องออกเงินลงทุนนี้ จึงเป็นทรัพย์สินที่เป็นรายได้ของโจทก์ แต่โจทก์ไม่นำลงบัญชีรายได้ จึงทำให้กำไรสุทธิของโจทก์ลดต่ำจากความจริงไป 13,037,800 บาท เมื่อนำกำไรสุทธิจำนวนนี้ไปรวมกำไรสุทธิของโจทก์ในการขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ให้แก่บริษัทกาญจนพาศน์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2515 อีก 1,760,000 บาทแล้ว โจทก์จึงมีกำไรสุทธิในปี 2515 รวม 14,797,800 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้ 4,364,340 บาท แต่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว 453,000 บาท โจทก์จึงต้องชำระภาษีเงินได้เพิ่มอีก 3,911,340 บาท กับต้องเสียเพิ่มตามกฎหมายอีก 782,268 บาท รวมเป็นเงิน 4,693,608 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้โดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หุ้นเป็นสิ่งซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ จึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 99 เมื่อโจทก์ได้หุ้นนั้นมาก็ต้องถือว่าเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งจะต้องนำมารวมเป็นรายได้ของบริษัทโจทก์ในการคำนวณกำไรสุทธิ โดยตีราคาหุ้นนั้นตามราคาที่พึงซื้อได้ตามปกติ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(3) ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินตีราคาหุ้นที่โจทก์ได้รับมา 130,378 หุ้นตามมูลค่าในใบหุ้น หุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 13,037,800 บาท จึงชอบด้วยวิธีการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
การที่โจทก์จ่ายเงินซื้อหุ้นเดิมมาเป็นเงิน 13,724,000 บาทนั้นเป็นรายจ่ายที่บังเกิดผลเป็นการเพิ่มเติมทรัพย์สินของโจทก์ขึ้นมา จึงถือได้ว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ซึ่งจะนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทโจทก์ไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(1) และ 65 ตรี(5) ดังจะเห็นได้ว่าหุ้นเดิม 6,862 หุ้น ของโจทก์นั้นก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์อยู่ตามเดิม ไม่ได้สูญหายไปไหนเจ้าพนักงานประเมินคงนำทรัพย์สินเฉพาะส่วนที่โจทก์ได้รับเพิ่มเติมมาคือหุ้นปันผล 130,378 หุ้น เป็นมูลค่า 13,037,800 บาท มารวมเป็นรายได้ในการคำนวณหากำไรสุทธิของโจทก์เท่านั้น ซึ่งชอบด้วยวิธีคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ(1), (3) แล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการประเมินภาษีของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรจำเลยให้การต่อสู้ว่าชอบแล้ว ศาลย่อมมีหน้าที่ยกบทกฎหมายมาปรับแก่คดีว่าการประเมินของจำเลยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่ จะว่าศาลวินิจฉัยนอกคำให้การหาได้ไม่
พิพากษายืน