คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อใดอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องไปจดทะเบียนจำนองตามวันที่ปรากฏในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้คดีนี้กับคดีอื่นของศาลชั้นต้นจะมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองหรือไม่ แต่คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยคดีสองสำนวนดังกล่าวโจทก์จึงไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญที่มีความเห็นว่าลายมือชื่อที่ลงในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เพราะมีคุณสมบัติการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกับลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ตามตัวอย่างที่ส่งมาก็ตามแต่สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 ทำก่อนที่จะมีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา ทั้งผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อบุคคลก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นและลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ที่ลงในใบแต่งทนายความกับในเอกสารที่ร้องเรียนให้นายอำเภอเมืองลำพูนสอบสวนเรื่องจำนองที่ดินในคดีนี้ก็แตกต่างกัน แสดงว่าคุณสมบัติในการเขียนและลักษณะตัวอักษรที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ไม่คงที่แน่นอนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 จึงฟังไม่ขึ้น การจดทะเบียนจำนองที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก่อนจะจดทะเบียนต้องประกาศ 30 วัน เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านทางสำนักงานที่ดินจึงจะจดทะเบียนให้ การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองซึ่งยังไม่ได้ลงวันที่ตอนไปยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนทำนิติกรรมครั้งแรกนั้น สัญญาจำนองยังไม่สมบูรณ์ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้แสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จดทะเบียนจำนองให้ โจทก์นำสัญญาจำนองดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เองฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 1 มิได้มอบอำนาจให้ทำเช่นนั้น สัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองจึงไม่มีผลตามกฎหมายที่จะผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตาม สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 และสัญญาค้ำประกันเป็นแบบพิมพ์ในกระดาษแผ่นเดียวกันโดยด้านหน้าเป็นสัญญากู้เงินด้านหลังเป็นสัญญาค้ำประกันการกู้เงินรายพิพาทไม่มีการค้ำประกัน การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านสัญญากู้เงินแล้วจึงปิด ต่อมาทางด้านหลังแสดงให้เห็นว่าเป็นการปิดเพิ่มเติมต่อจากด้านหน้า ไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2, 3, 4 เป็นทายาทโดยธรรมของนางคำมีจำเลยที่ 1 กับนางคำมีร่วมกันกู้เงินจากโจทก์ 300,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ข้างต้นและในวันเดียวกันนั้น นางคำมีได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 กับนางคำมียังไม่ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสี่ และบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 3 แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระก็ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่เท่าที่รับมรดกจากนางคำมีออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินเป็นลายมือชื่อปลอมนางคำมีภริยาจำเลยที่ 1 จะกู้เงินจากโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1ไม่ทราบ แม้นางคำมีจะกู้เงินจากโจทก์ แต่ก็มิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 สัญญากู้จึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 ขอถือเอาคำให้การนี้เป็นการบอกล้างสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันเงินกู้จากโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญาจำนองเป็นลายมือปลอม สัญญากู้เงินจึงตกเป็นโมฆะด้วย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและทายาทโดยธรรมของนางคำมี จิตรธรรมหรือจิตต์ธรรมหรือจิตธรรมจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางคำมี จิตรธรรมหรือจิตต์ธรรมหรือจิตธรรม ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 155 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูนกับสิ่งปลูกสร้างในที่ดินออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายได้ไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสี่ เท่าที่ได้รับมรดกจากนางคำมี จิตรธรรมหรือจิตต์ธรรมหรือจิตธรรมออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้รับมรดกของนางคำมี จิตรธรรมหรือจิตต์ธรรมหรือจิตธรรมผู้ตายร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายว่าเหตุใดโจทก์จึงไม่นำจำเลยที่ 1 ไปทำการจดทะเบียนจำนองที่ดินในขณะที่นางคำมียังมีชีวิตอยู่และไม่ไปจดทะเบียนจำนองเมื่อทางราชการประกาศครบ 30 วัน คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน2528 แต่กลับมาจดทะเบียนจำนองในวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 อันเป็นวันที่นางคำมีถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์จึงไม่แจ้งชัดในข้อสาระสำคัญ ยากที่จำเลยจะให้การต่อสู้คดีได้ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อใด อย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงเหตุผลดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างมาในฎีกา ฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น และวินิจฉัยว่า แม้คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 367/2528 ของศาลชั้นต้นจะมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองหรือไม่ แต่คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 367/2528 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 1 คดีนี้ เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนสัญญาจำนอง ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4เป็นจำเลย ดังนั้น คดีสองสำนวนดังกล่าวโจทก์จึงไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันกรณีจะเป็นฟ้องซ้อนได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) และวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญตามเอกสารหมาย ล.2ที่มีความเห็นว่าลายมือชื่อที่ลงในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือของจำเลยที่ 1 เพราะมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ตามตัวอย่างที่ส่งมาก็ตาม แต่สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 ได้ทำเมื่อวันที่11 มกราคม 2528 ก่อนที่จะมีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1ซึ่งทำเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2530 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา ทั้งผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อบุคคลก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น เมื่อพิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ที่ลงไว้ในใบแต่งทนายความและในเอกสารที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนให้นายอำเภอเมืองลำพูนสอบสวนเรื่องจำนองที่ดินในคดีนี้ตามเอกสารหมาย ล.3 แล้ว ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในเอกสารดังกล่าวก็แตกต่างกัน แสดงว่าคุณสมบัติในการเขียน และลักษณะตัวอักษรที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ไม่คงที่แน่นอนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 จึงฟังไม่ขึ้น และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองซึ่งยังไม่ได้ลงวันที่ตอนไปยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนทำนิติกรรมสัญญาจำนองยังไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 มิได้แสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จดทะเบียนจำนองให้ โจทก์ได้นำสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.5 ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เองฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 1 มิได้มอบอำนาจให้ทำเช่นนั้นได้ สัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองจึงยังไม่มีผลตามกฎหมายที่จะผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตาม ที่โจทก์นำสืบว่าหลังจากประกาศครบ 30 วัน แล้ว โจทก์จำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาที่จะทำสัญญาจำนองโดยได้นัดหมายกันไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอเมืองลำพูน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าง ในที่สุดจึงมอบเงินค่าธรรมเนียมให้โจทก์ไปทำการจดทะเบียนจำนองนั้น โจทก์กล่าวอ้างลอย ๆ และไม่มีเหตุผลในการรับฟัง เพราะแม้จำเลยที่ 1ไม่สามารถไปสำนักงานที่ดินได้ ก็อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนจำนองแทนได้ประกอบกับการที่โจทก์นำสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.5 ไปจดทะเบียนก็ดำเนินการในวันที่นางคำมีถึงแก่ความตายในลักษณะรีบเร่งเป็นข้อพิรุธ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินดังกล่าว และวินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 และสัญญาค้ำประกันเป็นแบบพิมพ์ในกระดาษแผ่นเดียวกันโดยด้านหน้าเป็นสัญญากู้เงิน ด้านหลังเป็นสัญญาค้ำประกัน ในการทำสัญญากู้เงินรายนี้ไม่มีสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลโจทก์ใช้อากรแสตมป์ดวงละ 5 บาท และ 20 บาท ในการปิดสัญญากู้เงินเมื่อพิจารณาสัญญากู้เงินด้านหน้าแล้ว หากปิดอากรแสตมป์ดวงละ 5 บาทลงไปถึง 36 ดวง ย่อมทับข้อความในสัญญา การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ต่อมาทางด้านหลังสัญญากู้เงิน ซึ่งไม่มีการทำสัญญาค้ำประกันเอาไว้แสดงให้เห็นว่าเป็นการปิดเพิ่มเติมต่อจากด้านหน้า จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวร่วมรับผิดชำระเงิน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share