คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3844/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบริษัทในต่างประเทศ สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพเป็นกิจการของจำเลย จึงเป็นสาขาของจำเลย เมื่อสาขาดังกล่าวมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตศาลชั้นต้น และได้ร่วมกระทำการ ในการขนส่งสินค้ารายพิพาท จึงถือว่าสำนักงานแห่งใหญ่ของสายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพ เป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 วรรคสอง โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2)
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เรื่องอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้ยกประเด็นข้ออื่นขึ้นโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ก็หาทำให้ประเด็นดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่เพราะการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วยังวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไปอีกก็โดยมีความประสงค์ว่าหากศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง จะได้วินิจฉัยประเด็นอื่นไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ และจำเลยยกประเด็นดังกล่าวขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาจึงสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับ และไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขน อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 ห้ามผู้ขนส่งกำหนดข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ในใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นเว้นแต่ผู้ส่งจะแสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง เมื่อฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยแจ้งชัด ข้อความจำกัดความรับผิดจึงไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้ และไม่อาจใช้ยันผู้รับตราส่ง ซึ่งได้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่ง ตลอดจนผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง
สัญญาประกันภัยมีผลบังคับตั้งแต่ผู้รับประกันภัยตกลงรับประกันภัย และได้ออกหนังสือรับประกันภัยล่วงหน้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยไว้ สัญญาประกันภัยทำขึ้นก่อนผู้เอาประกันภัยทราบว่าสินค้าสูญหาย แม้ว่าผู้รับประกันภัยจะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้หลังจากผู้เอาประกันภัยทราบว่าสินค้าสูญหายแล้ว สัญญาประกันภัยก็ไม่ตกเป็นโมฆะ
ข้อกำหนดในสัญญาประกันภัยที่ว่าในกรณีวัตถุที่เอาประกันภัยสูญหาย ผู้เอาประกันภัยจะต้องบอกกล่าวให้ตัวแทนของผู้รับประกันภัยทราบเพื่อทำรายงานสำรวจเสียก่อน มิฉะนั้นจะไม่จ่ายเงินนั้น เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้ผู้รับประกันภัยเชื่อถือได้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายจริงเท่านั้น หากผู้รับประกันภัยเชื่อถือได้แน่นอนแล้วจะไม่ถือข้อกำหนดนี้เป็นสาระสำคัญก็ได้หา เป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศเดนมาร์ก ประกอบกิจการค้าขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ มีสาขาในประเทศไทยใช้ชื่อว่า สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพ จำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ ในประเทศไทย จำเลยที่ ๑ ได้รับจ้างขนสินค้าเครื่องอะไหล่รถยนต์ ๑ ลังไม้จากประเทศสหรัฐอเมริกามาส่งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ที่กรุงเทพมหานครโดยทางเรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ผู้รับตราส่งได้เอาประกันภัยไว้ต่อบริษัทโจทก์ เมื่อเรือมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าสินค้าสูญหายไป โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายทดแทนให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ไป จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องจากจำเลยในฐานะผู้ขนส่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงขอให้พิพากษาบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยมิได้มีสำนักทำการงานหรือสาขาในประเทศไทย คงมีแต่ตัวแทนจำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลในประเทศไทยจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ ในประเทศไทย แต่มิได้ทำสัญญารับขนส่งแทนจำเลยที่ ๑ ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ จึงไม่ต้องรับผิด สินค้าพิพาทมิได้สูญหายในระหว่างการขนส่ง ใบตราส่งจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน๕๐๐ เหรียญสหรัฐ โจทก์ทำสัญญารับประกันภัยภายหลังจากได้พบการสูญหายของสินค้าแล้ว ถือว่าภัยเกิดขึ้นก่อนที่จะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยจึงเป็นโมฆะ และผู้เอาประกันภัยมิได้บอกกล่าวให้ผู้รับประกันภัยสำรวจความเสียหายตามข้อกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้นได้ แต่ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาเป็นประการแรกว่า จำเลยที่ ๑ ทั้งสองบริษัทมิได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้นมิได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สายเดินเรือเมอสก์เป็นกิจการของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองบริษัทที่ประกอบกิจการร่วมกัน สายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพ ฯ จึงเป็นสาขาของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองบริษัทด้วย เมื่อสาขาดังกล่าวมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๑/๒ ถนนสาธรใต้ แขวงยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ในเขตศาลชั้นต้น และได้ร่วมกระทำการในการขนส่งสินค้ารายพิพาท จึงถือว่าสำนักงานแห่งใหญ่ของสายเดินเรือเมอสก์ สาขากรุงเทพ ฯ เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองบริษัทสำหรับคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑ วรรคสอง โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๒)
จำเลยที่ ๑ ฎีกาต่อไปอีกว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ สินค้าที่ขนส่งสูญหายไปก่อนที่จะบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ มีเงื่อนไขตามข้อ ๕ แห่งใบตราส่งให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญสหรัฐห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ได้เอาประกันภัยหลังจากไม่พบสินค้าแล้ว และห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์มิได้ขอให้โจทก์ออกใบสำรวจความเสียหายตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยก่อน พิเคราะห์แล้ว แม้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่ให้ยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น ครั้นโจทก์อุทธรณ์เรื่องอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ มิได้ยกประเด็นทั้งสี่ข้อนี้ขึ้นโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ก็ตาม แต่เห็นว่าหาทำให้ประเด็นดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ เพราะการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้นแล้วยังวินิจฉัยประเด็นทั้งสี่ต่อไปอีก ก็โดยมีความประสงค์ว่า หากศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง จะได้วินิจฉัยประเด็นอื่นไปทีเดียว ไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเหล่านั้นอีก ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะวินิจฉัยประเด็นทั้งสี่ต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้และจำเลยที่ ๑ ยกประเด็นทั้งสี่ข้อดังกล่าวขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
ปัญหาที่ว่ามีเงื่อนไขตามข้อ ๕ แห่งใบตราส่งให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบไม่เกิน ๕๐๐ เหรียญสหรัฐ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดเกินจำนวนดังกล่าวนั้น เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขน ในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๕ ห้ามผู้ขนส่งกำหนดข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ในใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้น เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง ปรากฏว่าข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งดังกล่าวได้ระบุไว้ด้านหลังของใบขนสินค้าหรือใบตราส่ง เอกสารหมาย จ.๖ แต่หามีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้าลงไว้ในเอกสารฉบับนี้ด้วยไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้ และไม่อาจใช้ยันห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ผู้รับตราส่ง ซึ่งได้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๗ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่งโจทก์จึงหาผูกพันให้ต้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๑ ได้เพียง ๕๐๐ เหรียญสหรัฐ ไม่
ปัญหาที่ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ได้เอาประกันภัยหลังจากไม่พบสินค้าแล้ว การประกันภัยจึงเป็นโมฆะนั้น ได้ความว่าในการประกันภัยรายนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ได้สมัครเอาประกันภัยทางทะเลต่อบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๓ โจทก์ตกลงรับประกันภัยและออกหนังสือรับประกันภัยทางทะเลล่วงหน้าให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ไว้ มีข้อความว่า โจทก์ตกลงรับประกันภัยไว้ล่วงหน้าในวงเงิน ๑๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา สำหรับสินค้าเครื่องอะไหล่รถยนต์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๑ เหตุที่โจทก์ยังไม่ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้เพราะโจทก์ยังไม่ทราบชื่อเรือที่รับขนสินค้าและรายละเอียดอื่น ๆการเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยโจทก์จะเรียกเก็บหลังจากออกกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ทราบว่าสินค้าที่ห้างสั่งซื้อสูญหายไป ครั้นวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๓ โจทก์จึงออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๒ ดังนี้เห็นว่า สัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์มีผลบังคับตั้งแต่โจทก์ตกลงรับประกันภัยและได้ออกหนังสือรับประกันภัยทางทะเลล่วงหน้าในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๒๓ แล้ว หาใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์เอาประกันภัยในวันที่โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ไม่ สัญญาประกันภัยทำขึ้นก่อนห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ทราบว่าสินค้าสูญหายแล้วและไม่ตกเป็นโมฆะดังจำเลยที่ ๑ อ้าง
ปัญหาสุดท้ายที่ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์มิได้ขอให้โจทก์ออกใบสำรวจความเสียหายตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยก่อนโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ไปจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ได้ความว่า กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงชัยบูลย์ตามเอกสารหมาย จ.๑๒ มีข้อความว่า ในกรณีมีการสูญหายหรือเสียหายแก่วัตถุที่เอาประกันภัย ต้องบอกกล่าวแก่ตัวแทน ในกรณีที่โจทก์ไม่มีตัวแทนก็ให้บอกกล่าวแก่ตัวแทนของลอยด์โดยพลัน และจะต้องได้รับรายงานสำรวจซึ่งลงนามโดยบุคคลดังกล่าว ถ้าปราศจากรายงานการสำรวจนั้นก็จะไม่จ่ายเงินเพื่อการสูญหายหรือเสียหาย เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมีไว้เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้ผู้รับประกันภัยเชื่อถือได้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยสูญหายหรือเสียหายจริงเท่านั้น หากผู้รับประกันภัยเชื่อถือได้แน่นอนแล้วจะไม่ถือข้อความนี้เป็นสาระสำคัญก็ได้ คดีนี้พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไปจริงและได้ออกหนังสือรับรองไว้ตามเอกสารหมาย จ.๔ โจทก์เชื่อว่าสินค้าสูญหายไปจริงจึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนไป หาเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๑ ได้
พิพากษายืน.

Share