แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยกับโจทก์จะมีข้อตกลงกันไว้ว่านักแสดงหญิงจะตั้งครรภ์ไม่ได้ หากตั้งครรภ์จะต้องถูกเลิกจ้างก็ตามแต่การที่โจทก์ตั้งครรภ์นั้นมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาแก่นายจ้าง การทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือเข้าข้อยกเว้นอื่น ๆ ที่นายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2540 โจทก์ตั้งครรภ์ จำเลยมีคำสั่งเลิกสัญญาจ้างหรือให้โจทก์เลือกเปลี่ยนงานและลดเงินเดือน โจทก์ไม่ยินยอมและถือว่าเป็นการเลิกจ้าง นอกจากนี้จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 66,000 บาท และจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 2,016 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยแต่เป็นนักแสดงอิสระอยู่ในสังกัดของบริษัทคิงคองแดนซ์เอ็นเทอร์เทนเมนต์จำกัด โดยแต่แรกจำเลยมีข้อตกลงกับโจทก์และนักแสดงว่าบริษัทคิงคองแดนซ์เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด ไม่มีทุนพอที่จะรับทุกคนเป็นพนักงานประจำได้ บริษัทคิงคองแดนซ์เอ็นเทอร์เทนเมนต์จำกัด ตั้งขึ้นเพื่อติดต่อหางานให้ทุกคนทำเท่านั้น นอกจากนี้นักแสดงหญิงจะตั้งครรภ์ไม่ได้ ต่อมาโจทก์ตั้งครรภ์ต้องเลิกการแสดงไปจนกว่าจะสามารถกลับมาแสดงได้ตามข้อตกลงที่จำเลยเสนองานใหม่ลดค่าจ้างแก่โจทก์เพราะเห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และคดีฟังได้ว่าจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 60,600 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 841 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งรับฟังมาแล้วว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยกับโจทก์จะมีข้อตกลงกันไว้ว่านักแสดงหญิงจะตั้งครรภ์ไม่ได้ หากตั้งครรภ์จะต้องถูกเลิกจ้างดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ตั้งครรภ์นั้นก็มิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาแก่นายจ้างการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือเข้าข้อยกเว้นอื่น ๆ ที่นายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน