คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่จำเลยได้มาจากการนำทองรูปพรรณของผู้เสียหายซึ่งปล้นมาได้ไปขาย มิใช่ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกปล้นเอาไป ศาลจะสั่งคืนให้ผู้เสียหายไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ และใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด จำเลยที่ ๕ ฐานรับของโจร กับขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ด้วย และขอให้ศาลสั่งคืนของกลางของผู้เสียหายที่ได้คืนมา ราคา ๒๖,๖๒๕ บาท กับสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ยังไมได้คืนอีก ๑๖๘,๓๗๕ บาท ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๕ ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงดังฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีปืนและวัตถุระเบิดและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยที่ ๕ มีความผิดฐานรับของโจร ริบอาวุธปืนของกลาง มีดปลายแหลมไม่ปรากฏว่าได้ใช้ในการกระทำผิดไม่ริบ คืนของกลางราคา ๒๖,๖๒๕ บาท และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนอีก ๑๖๘,๓๗๕ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเรื่องปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๔ คืนของกลางราคา ๑๙,๗๒๕ บาท ให้แก่ผู้เสียหาย คืนธนบัตรและเหรียญรวม ๖,๙๐๐ บาทให้แก่เจ้าของ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน ๑๗๕,๒๗๕ บาทแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๔ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และสั่งคืนธนบัตรกับเหรียญรวม ๖,๙๐๐ บาทให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๓ ฎีกา ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ได้ร่วมกระทำผิดในคดีเรื่องนี้จริง
วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนธนบัตร ๖,๓๐๐ บาท กับเหรียญ และเหรียญชนิดอื่น ๆ รวม ๖๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย เห็นว่าแม้จะฟังว่าธนบัตร ๖,๓๐๐ บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ ๓ ได้มาจากการนำทองรูปพรรณของผู้เสียหายไปขายดังฎีกาของโจทก์ก็ตาม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ธนบัตร ๖,๓๐๐ บาท มิใช่ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายในคดีเรื่องนี้ปล้นเอาไป ส่วนเหรียญบาทและเหรียญชนิดอื่น ๆ รวม ๖๐๐ บาท ฟังไม่ได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยที่ ๓ ได้มาจากการขายทองรูปพรรณที่ปล้นมาได้และไม่ใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกปล้นไป ในชั้นนี้จึงคืนให้ผู้เสียหายไม่ได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๔ มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยผู้กระทำผิดมีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดติดตัวไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง และโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดตามมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๐ ตรี จำคุกจำเลยที่ ๔ ยี่สิบปี นอกจากที่แก้นี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share