แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เบี้ยปรับที่ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 22 นั้น แม้มาตรา 27 ทวิวรรคสองแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวจะบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาใช้บังคับก็ตาม ก็เป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องถือปฏิบัติ แต่ไม่มีผลผูกพันให้ศาลต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นว่านั้นการงดหรือลดเบี้ยปรับเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่า การที่เจ้าพนักงานงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่และศาลยังมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีมีเหตุอันสมควรอีกด้วย เมื่อปรากฏในชั้นไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินและในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยว่า หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในการส่งบัญชีเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์ไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบและโจทก์ไม่นำรายได้ลงบัญชีรายรับให้ครบถ้วนอันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะเบี้ยปรับโดยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อปี พ.ศ. 2526 นายพล อังสุภานิช เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร 5 ได้รับมอบหมายจากสรรพากรจังหวัดตรังให้ตรวจสอบวิเคราะห์แบบเสียภาษีที่โจทก์ยื่นไว้ประจำปี พ.ศ. 2525 ผลการตรวจวิเคราะห์มีเหตุสมควรเชื่อว่า การเสียภาษีของโจทก์ประจำปีพ.ศ. 2525 ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหมายเรียกถึงโจทก์มาตรวจสอบพร้อมให้นำบัญชีและเอกสารการลงบัญชีมามอบให้ด้วย จากการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการรายรับและรายจ่ายไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ปรับปรุงรายรับและรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิเสียใหม่ ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีเป็นเงิน 893,569.23 บาท โจทก์จึงต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี พ.ศ. 2525 เป็นเงินค่าภาษีจำนวน 349,516.69 บาทเบี้ยปรับ 349,516.69 บาท และเงินเพิ่มอีก 188,739 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 887,772.38 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลถึงโจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามวินิจฉัยให้ลดเงินค่าภาษีลงโดยให้โจทก์รับผิดค่าภาษีเป็นเงิน 173,364.69 บาทเบี้ยปรับ 173,364.69 บาท และเงินเพิ่ม 88,415.98 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 435,145 บาท โจทก์ฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเฉพาะเบี้ยปรับ โดยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาลดเบี้ยปรับโดยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นชอบหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเจ้าพนักงานประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2525ปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแสดงยอดรายรับไว้ไม่ครบถ้วนและมีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่าโจทก์นำค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 352,851 บาท แสดงไว้ในงบกำไรขาดทุน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ไม่ใช่รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธินอกจากนี้ยังมีรายจ่ายอื่นที่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี อีกจำนวน 20รายการเป็นเงิน 22,790 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงได้คำนวณรายรับของโจทก์ และแจ้งให้โจทก์ชำระเงินภาษีที่ขาดพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยเฉพาะเบี้ยปรับที่ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 นั้น แม้ประมวลรัษฎากรมาตรา 27 ทวิ วรรคสอง จะบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาใช้บังคับก็ตามก็เป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องถือปฏิบัติแต่ไม่มีผลผูกพันให้ศาลต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นว่านั้น การงดหรือลดเบี้ยปรับเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่และศาลยังมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีมีเหตุอันสมควรอีกด้วย ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าในชั้นไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินและในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม นายวิวัฒน์ เรืองวิทยาวงศ์หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในการส่งบัญชีเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์ไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบและโจทก์ไม่นำรายได้ลงบัญชีรายรับให้ครบถ้วน อันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องเบี้ยปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง