คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด สำหรับคดีที่อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา และศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีจึงย่อมถึงที่สุดเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 จากนั้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2550 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ ศาลชั้นต้นจึงออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้จำเลยทั้งสองโดยวิธีปิดคำบังคับ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้
ครั้นวันที่ 23 เมษายน 2550 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลพิพากษาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 คดีจึงถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีวันนี้ (วันที่ 23 เมษายน 2550) พ้นระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว จึงไม่อาจออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ได้ ยกคำขอ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงประการเดียวว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอให้ออกหมายบังคับคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการชอบหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์โดยสรุปว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยทั้งสองขาดนัด และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง คดีนี้จึงถึงที่สุดเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง ซึ่งหากนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี ยังไม่เกิน 10 ปี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอโดยเห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ยื่นคำขอภายในกำหนด 10 ปี จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 (เดิม) คดีจึงย่อมถึงที่สุดเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 และส่งให้จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดคำบังคับเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550 จำเลยทั้งสองมิได้ขอให้พิจารณาคดีใหม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม 2550 และสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดในวันที่ 2 มีนาคม 2550 ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มายื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันที่ 23 เมษายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คดีนี้ถึงที่สุด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอโดยเห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอให้ออกหมายบังคับคดีโดยยังไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษากลับ ให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share