คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3826/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งหกในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหก จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งหกฟ้องให้ได้กลับคืนมาซึ่งทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาท ซึ่งแม้โจทก์ทั้งหกจะฟ้องรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 455 ให้แก่โจทก์ทั้งหก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งหกที่ว่า หนังสือไม่ขอรับที่ดินเป็นเอกสารปลอม จำเลยรับมรดกที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งหก จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งหกและทายาทอื่นของนายบัวเจ้ามรดก และคดีโจทก์ทั้งหกไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายบัว เจ้ามรดก จำเลยโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งหกในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก โจทก์ทั้งหกไม่เคยตกลงแบ่งที่ดินมรดกเป็นส่วนสัดระหว่างทายาท ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งหก กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกให้ได้กลับคืนมาซึ่งทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลย คดีของโจทก์ทั้งหกจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาท แม้โจทก์ทั้งหกจะฟ้องรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งหกตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมามีราคา 1,089,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคน จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้อง ที่โจทก์ทั้งหกฎีกาว่า หนังสือไม่รับที่ดินเป็นเอกสารปลอม จำเลยรับมรดกที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งหก จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งหก คดีโจทก์ทั้งหกไม่ขาดอายุความเนื่องจากจำเลยยักยอกทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งหกมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งไม่มีอายุความ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ทั้งหก คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งหก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share