แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่า นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกแม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 2 ครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว และโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาทเท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรก แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701,727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าและจ่ายออกเพื่อหักทอนบัญชีหลายครั้งต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของยอดหนี้ที่เบิกเกินบัญชีจำเลยที่ 1จะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากไม่ชำระยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนได้ และกำหนดชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่20 กันยายน 2529 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อโจทก์เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3ทุกประเภททั้งที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาจำนองหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าในวงเงิน 400,000 บาท ให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตกลงจะชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง หากค้างชำระให้นำดอกเบี้ยทบกับเงินต้นได้ และหากบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ยอมใช้เงินส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วนนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อลดยอดหนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จำนวน641,230.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 607,998.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 3ชดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะใบมอบอำนาจไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนที่โจทก์ฟ้องเพราะตามสัญญากู้ ข้อ 1 สัญญาค้ำประกันข้อ 1และข้อ 2 สัญญาจำนอง และสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง จำเลยที่ 3มีเจตนาค้ำประกัน การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการเบิกเงินเกินบัญชีเพียงไม่เกินจำนวน 400,000 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดชำระเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จำกัดจำนวนเงินเพียงไม่เกิน400,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองตามกฎหมายเท่านั้นมิใช่อย่างลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3ได้ขอชำระหนี้แก่โจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยที่ 3จึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้จำเลยที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท เพราะที่ดินของจำเลยที่ 3ตั้งอยู่ทำเลที่ดี ขอฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78890, 78891 แขวงลาดยาว เขตบางเขน (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนปลดจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ว่าฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์จดทะเบียนปลดจำนองจึงต้องถือว่ามีทุนทรัพย์เท่ากับที่ทำสัญญาจำนองด้วย ดังนั้นให้จำเลยนำค่าขึ้นศาลมาชำระให้ครบถ้วน ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม แต่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นไว้
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้อง การที่จำเลยที่ 3 ขอชำระหนี้เป็นจำนวน400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529ซึ่งเป็นเงิน 400,000 บาทเศษ ไม่ครบถ้วนตามมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3ต้องรับผิดจึงเป็นการชำระหนี้ไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาและไม่จำต้องปลดภาระค้ำประกันและไถ่ถอนจำนองที่ดินอันเป็นหลักประกันจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินประกอบกิจการค้าขายตลอดมา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 566,708.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ก่อน ในวงเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นชำระหนี้จนกว่าจะครบ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 479,029.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระโจทก์2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และให้โจทก์ไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำนองไว้ต่อโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนปลดจำนองดังกล่าว ก็ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของโจทก์ตามฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 ดังฎีกาโจทก์ เห็นว่าตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 ปรากฏว่า ตั้งแต่ถัดจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์ และต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปยังจำเลยที่ 1 ไม่มีรายการระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวเลย คงมีแต่รายการโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมาและจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในระหว่างนั้นเพียง 2 ครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530เป็นเงิน 700.09 บาท และวันที่ 17 ธันวาคม 2530 เป็นเงิน 5,117.84บาท รวมกันเป็นเงิน 5,817.93 บาท ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 เคยขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันนับแต่วันที่ 20 กันยายน2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน2529 จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้จำนวน479,159.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์ 2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วยจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 479,029.59 บาท
สำหรับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.11 ระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไว้ไม่เกิน400,000 บาท โดยผู้กู้จะผ่อนชำระให้หมดสิ้นภายในวันที่ 20 กันยายน2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 ก็ดี หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ.13และ จ.14 ก็ดี ต่างระบุไว้ในข้อ 1 ของสัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน 400,000 บาทแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน400,000 บาท เท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ จำเลยที่ 3คงต้องรับผิดแก่โจทก์ในต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น และแม้สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 ข้อ 1 มีข้อความตอนท้ายว่า”ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับ รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง” และข้อ 2 มีข้อความว่า “ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และหรือไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันที” ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ (จำเลยที่ 1)ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานี้ทันทีและโดยสิ้นเชิงภายในต้นเงิน400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้นมิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับลูกหนี้แต่อย่างใดดังนั้นกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปตามหนังสือขอชำระหนี้เอกสารหมาย ล.3 จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 701 วรรคแรกแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3ดังกล่าว โดยจะให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ในจำนวนยอดหนี้ของสิ้นเดือนกันยายน 2530 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 558,776.16 บาท ตามหนังสือของโจทก์ตอบปฏิเสธการรับชำระหนี้เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701, 727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 479,159.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์ 2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์