คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3815/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีเรื่องโกรธเคืองอย่างรุนแรงกันมาก่อน การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต่อว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2ที่ห้องโถงของศาลในวันเกิดเหตุว่าถูกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2กลั่นแกล้งหลายเรื่อง และจะเอาเรื่องผู้ถูกกล่าวหาที่ 2เป็นการข่มขู่และยั่วยุให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เกิดอารมณ์ไม่พอใจ และการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไปยืนที่ประตูห้องพิจารณาของศาลในลักษณะยืนขวางประตู เห็นได้ว่าเป็นการท้าทายให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่พอใจยิ่งขึ้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2เดินเข้าห้องพิจารณาไม่ว่าจะเดินชนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงหรือเดินเฉียดชิดเพราะที่แคบตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แถลง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ไม่ควรผลักผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต่อว่าข่มขู่จะเอาเรื่องผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ก็ดี ผู้กล่าวหาที่ 1ไปยืนขวางประตูห้องพิจารณาและผลักผู้ถูกกล่าวหาที่ 2เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เดินเข้าห้องก็ดี ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีส่วนก่อให้เกิดเหตุวิวาทขึ้นในศาลเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กับพวกเป็นคดีอาญาที่ศาลชั้นต้น ในวันนัดพิจารณา วันที่ 13 มกราคม 2535 เวลา 10.35 นาฬิกาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ศาลได้นัดพิจารณาคดีดังกล่าวที่ห้องพิจารณาที่ 7 ทราบว่าคู่ความได้ทะเลาะวิวาทกันโดยมีการชกต่อยกัน
ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองแล้วผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่ติดใจที่จะไต่สวนพยานอีก
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (ที่ถูกมาตรา 31(1) ประกอบด้วยมาตรา 33) มีคำสั่งให้ลงโทษปรับคนละ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน แจ้งให้สภาทนายความทราบด้วย
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1เป็นเงิน 200 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงว่าวันเกิดเหตุหลังจากศาลพักการพิจารณา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1เดินผ่านห้องโถงพบผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยืนอยู่ จึงพูดกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่า “คุณกลั่นแกล้งผมหลายเรื่องคุณเอาชื่อนามสกุลผมไปจดทะเบียนตั้งบริษัทไม่พอ ยังเอาตำรวจไปจับผมในบริเวณศาล ไม่พอ คุณยังยกพวกไปเกือบ 20 คน จะไปยึดห้องที่ผมบริหาร ผมจะเอาเรื่องคุณ” แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 1เดินไปยืนอยู่ที่ประตูห้องพิจารณาที่ 7 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2โกรธจึงเดินชนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เซไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ผลักผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงชกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ถูกที่คาง
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แถลงว่า วันเกิดเหตุขณะผู้ถูกกล่าวหาที่ 2ยืนอยู่ที่ห้องโถงของศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เดินผ่านมาและพูดกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่า “มึงระวังตัวให้ดีมึงทำกูอย่างนี้ กูไม่ปล่อยไว้หรอก” ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2เห็นว่า เป็นคำกล่าวอาฆาตจึงบอกให้เจ้าหน้าที่ศาลเป็นพยานแล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เดินไปยืนขวางประตูห้องพิจารณาที่ 7ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เดินเบี่ยงตัวเข้าห้องเพราะแคบผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ผลักไหล่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงชกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 หนึ่งครั้งถูกหน้าอกซ้าย
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ จากข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1แถลงดังกล่าว ฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีเรื่องโกรธเคืองอย่างรุนแรงกันมาก่อน การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต่อว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ห้องโถงของศาลในวันเกิดเหตุว่าถูกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กลั่นแกล้งหลายเรื่อง และจะเอาเรื่องผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นการข่มขู่และยั่วยุให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2เกิดอารมณ์ไม่พอใจ และการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไปยืนที่ประตูห้องพิจารณาที่ 7 ในลักษณะยืนขวางประตูเห็นได้ว่าเป็นการท้าทายให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่พอใจยิ่งขึ้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เดินเข้าห้องพิจารณาไม่ว่าจะเดินชนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงหรือเดินเฉียดชิดเพราะที่แคบตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แถลงผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็ไม่ควรผลักผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต่อว่าข่มขู่จะเอาเรื่องผู้ถูกกล่าวหาที่ 2ก็ดี ผู้กล่าวหาที่ 1 ไปยืนขวางประตูห้องพิจารณาและผลักผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เดินเข้าห้องก็ดี ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีส่วนก่อให้เกิดเหตุวิวาทขึ้นในศาล เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลอุทธรณ์ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share