คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าอะไร เพราะวัตถุประสงค์ของโจทก์จะประกอบกิจการค้าอะไรมิใช้ข้อหาอันกฎหมายบังคับต้องบรรยายให้ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายรวมทั้งอ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว ซึ่งจำเลยก็ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม
สัญญาซื้อขายค่าความยินยอมและกิจการซักรีด ไม่ใช่ตราสารหรือเอกสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในประมวลรัษฎากร ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และรับฟังเป็นพยานหลักฐานฟ้องคดีนี้ได้
โจทก์จำเลยมีข้อสัญญากันว่าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่างวดติดต่อกัน 3 งวด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจำเลยยินยอมเสียค่าปรับจำนวนหนึ่งกับชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลง โจทก์ก็มีสิทธิเลิกสัญญา จำเลยนอกจากจะต้องใช้ค่างวดที่ค้างชำระ และค่าซ่อมแซมทรัพย์สินอันเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งแล้ว จำเลยจะต้องเสียค่าปรับหรือเบี้ยปรับอันเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าตามข้อกำหนดในสัญญาด้วย แต่เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับตามสัญญาส่วนนี้กำหนดไว้สูงไป ก็ชอบที่จะลดเบี้ยปรับลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2516 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อค่าความนิยมและกิจการซักรีดในแผนก พี.พี.ลอนดรี เซอร์วิส จากโจทก์ในราคา 900,000บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท หากจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์รวม 2 เดือนติดต่อกันให้ถือว่าเป็นการเลิกสัญญาและจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับเป็นเงิน 200,000 บาท และยินยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกด้วย ตามสัญญาโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ตามรายการแนบท้ายสัญญารวมทั้งอาคารห้องซักรีด โดยจำเลยที่ 1 ต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองหากเลิกสัญญากันจำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระราคาตามสัญญาให้โจทก์จนถึงวันที่โจทก์เข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นคืน และยอมให้เงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระไปแล้วเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 180,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 16 เมษายน2517 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายข้อ 7 เป็นว่าหากจำเลยผิดนัดในการผ่อนชำระเงินรวม 3 งวดติดต่อกันให้ถือว่าสัญญาเลิกกัน จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท และยินยอมให้ค่าเสียหายอันเกิดกับโจทก์ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคาร 180,000 บาท เป็นค่าเสียหายชั้นต้นได้ หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว โจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงและใช้งานได้ดีปราศจากความชำรุดบกพร่องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินกิจการซักรีดในนามของ พี.พี. ลอนดรี เซอร์วิส เรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามสัญญารวม 3 งวดติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2517 โจทก์ทวงถามแล้วเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 และส่งสำเนาให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ใช้สอยเครื่องมือและทรัพย์สินของโจทก์ตามสัญญาชำรุดทรุดโทรมเสียหายทั้งไม่ดูแลรักษาปล่อยให้ตัวอาคารห้องซักรีดกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดเสียหาย และโจทก์ต้องชำระหนี้เกี่ยวกับการประกอบกิจการซักรีดเป็นธุรกิจในชื่อแผนกหนึ่งของโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือ

1. เงินที่จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระให้โจทก์ตามสัญญา ค้างชำระตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2517 ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน59,000 บาท

2. ค่าซ่อมทรัพย์สินตามรายการในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 เป็นเงิน 105,596 บาท

3. ค่าซ่อมห้องซักรีดและอุปกรณ์ตามรายการในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 เป็นเงิน 34,691.49 บาท

4. ค่าปรับตามสัญญาเป็นเงิน 200,000 บาท

โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 399,287.49 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง และให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงิน 180,000 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลและมีบุคคลตามที่กล่าวในฟ้องเป็นกรรมการหรือไม่ไม่ทราบไม่รับรอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้กล่าวว่ามีวัตถุประสงค์ในการค้าอะไร ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะโจทก์ส่งมอบเครื่องมือเครื่องใช้รายการที่ 1, 7 ตามรายการแนบท้ายสัญญาให้จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ และโจทก์มีสัญญาผูกพันอยู่กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียยอมให้สถานบันดังกล่าวใช้ผ้าลินินของโจทก์และโจทก์เป็นผู้ซักรีด โจทก์ไม่มอบภาระตามสัญญาที่มีต่อสถาบันให้จำเลยที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นกิจการและค่าความนิยมอย่างหนึ่งตามที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดชำระราคาครบ 3 งวด โจทก์ไม่ยอมส่งมอบการดำเนินการรับเงินค่าจ้างซึ่งมีผลผูกพันกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียให้กับจำเลยที่ 1 โจทก์คงไปเก็บเงินค่าซักรีดจากสถาบันซึ่งเป็นกิจการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ เมื่อโจทก์รับเงินมาแล้ว 48,000 บาท ไม่มอบให้จำเลยที่ 1 จึงถือว่าเงินดังกล่าวหักเป็นค่างวด 3 งวด 45,000 บาท โจทก์ยังต้องคืนเงินให้จำเลยที่ 1 อีก 3,000 บาท ค่าซ่อมทรัพย์สินตามรายการในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6, 7 ไม่เป็นความจริงค่าปรับ 200,000 บาท โจทก์เรียกจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเหตุที่โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายคือ เงินค่างวดที่ส่งไปแล้ว ค่าเช่าซื้อรถยนต์ ค่าประกันวินาศภัยอาคาร และเงินที่โจทก์รับไว้ไม่จ่ายให้จำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 316,950 บาท จำเลยที่ 1 ขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกจากโจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เหตุที่จำเลยที่ 2ไม่จ่ายเงินตามภาระค้ำประกันให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ขอให้ระงับไว้ก่อน โดยจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าไม่ได้ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระเงินค่างวดที่ค้างชำระ 59,000 บาท ค่าซ่อมทรัพย์สิน104,921 บาท และเบี้ยปรับ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 263,921 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 263,921 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 180,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน180,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วคดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 รวม 4 ข้อ คือ

1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

2. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

3. จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่

4. ค่าเสียหาย

ประเด็นข้อแรก จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าอะไร ทำให้ไม่อาจต่อสู้คดีได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เพราะวัตถุประสงค์ของโจทก์จะประกอบกิจการค้าอะไรมิใช่ข้อหาอันกฎหมายบังคับต้องบรรยายให้ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ประเด็นข้อสองโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด บุคคลที่โจทก์กล่าวในฟ้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาซื้อขายค่าความนิยมและกิจการซักรีดตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายจะใช้เป็นพยานหลักฐานฟ้องคดีไม่ได้นั้น เห็นว่าสัญญาซื้อขายสองฉบับดังกล่าวไม่ใช่ตราสารหรือเอกสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในประมวลรัษฎากรซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ และรับฟังเป็นพยานหลักฐานฟ้องคดีนี้

ประเด็นข้อสามจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

ส่วนประเด็นข้อสุดท้ายเรื่องค่าเสียหายนั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่างวดที่ค้างชำระ 59,000 บาท ค่าซ่อมทรัพย์สิน 104,921 บาท และเบี้ยปรับ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 263,921บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้เถียงเฉพาะเบี้ยปรับว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับไม่ได้ทั้งเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ข้อนี้เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญา และตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2และ จ.4 มีข้อสัญญาว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่างวดติดต่อกัน3 งวด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจำเลยที่ 1 ยินยอมเสียค่าปรับ200,000 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น ฉะนั้น นอกจากค่างวดที่ค้างชำระและค่าซ่อมทรัพย์สินแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องเสียค่าปรับหรือเบี้ยปรับอันเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าตามข้อกำหนดในสัญญาด้วย แต่เบี้ยปรับที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ 100,000 บาทนั้น เป็นจำนวนสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงให้จำเลยที่ 1 ชำระเพียง 20,000บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 ชำระ 20,000 บาทเมื่อรวมกับค่างวดที่ค้างชำระและค่าซ่อมแซมทรัพย์สินแล้วรวมเป็นเงิน 183,921 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share