คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องอ้างสิทธิของโจทก์ว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็ม ชายทะเลฝั่งใต้ โดยได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานให้ใช้ที่ดินดังกล่าวในกิจการที่เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของกรมพลาธิการทหารบก จำเลยเช่าที่ดินบางส่วนซึ่งอยู่ในความครอบครองดังกล่าว ต่อมากรมพลาธิการทหารบกมีหนังสือบอกเลิกการเช่าให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยไม่ยอมออกไปภายในกำหนดขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลย แม้จะไม่ระบุว่าที่ดินที่เช่ามีเขตติดต่ออะไร กำหนดเวลาเช่านานเท่าใด และไม่แนบหลักฐานทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทมาท้ายฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ซึ่งแจ้งชัดอยู่แล้วเป็นฟ้องเคลือบคลุม ที่ดินพิพาทแม้จะไม่มีโฉนด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็ม ชายทะเล จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 เมื่อโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินพิพาทจากกรมชลประทานฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ถือได้ว่าเป็นการยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1306

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่ากรมพลาธิการทหารบกเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาบริหารของโจทก์ และเป็นผู้ครอบครองที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็ม ชายทะเลฝั่งทิศใต้ด้านทะเลระหว่างกม. 36×320 ถึงกม. 36×060 รวมเนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน 1.35 ตารางวาตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยกรมชลประทานอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าวในกิจการที่เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของกรมพลาธิการทหารบก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2521จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบางส่วนซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ 50 ไร่ ถ้ากรมพลาธิการทหารบกต้องการที่ดินดังกล่าวคืนเมื่อใดให้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองเดือน จำเลยจะคืนให้โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายและค่ารื้อถอนใด ๆทั้งสิ้น จำเลยได้เข้าทำนากุ้งในที่ดินที่จำเลยเช่าจากกรมพลาธิการทหารบกดังกล่าวตั้งแต่วันทำสัญญา ต่อมากรมพลาธิการทหารบกมีความประสงค์ที่จะใช้ที่ดินดังกล่าว จึงได้มอบอำนาจให้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และจัดทำที่ดินที่เช่าให้อยู่ในสภาพเดิมภายในกำหนด60 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กับให้จำเลยส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวนั้นต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ นับแต่วันฟ้องในอัตราเดือนละ 7,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีต่อไปทุกเดือน จนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า กรมพลาธิการทหารบกที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็มชายทะเลฝั่งทิศใต้ด้านชายทะเล รวมเนื้อที่ 89 ไร่ 3 งาน 1.35ตารางวา นั้น ความจริงแล้วกรมชลประทานมิได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าวในกิจการที่เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของกรมพลาธิการทหารบกแต่อย่างใด จำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินลงวันที่ 3 สิงหาคม 2526จำนวนเนื้อที่ 50 ไร่ กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมกล่าวคือฟ้องของโจทก์ที่ว่าเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2526 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบางส่วน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์จำนวนเนื้อที่ 50 ไร่ โดยให้ค่าเช่าเป็นเงิน 4,000 บาท ต่อปีโดยมิได้กล่าวว่าได้ทำสัญญาเช่าตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร กำหนดเวลาการเช่าก็มิได้กำหนดไว้ โฉนดเลขที่ดินที่เท่าไร และระยะเวลาสิ้นสุดการเช่าเมื่อใด ก็มิได้แสดงโดยแจ้งชัดไว้ในคำฟ้อง ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ เพราะมิได้แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เพราะโจทก์มิได้แนบเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มาในสำเนาคำฟ้องที่ส่งให้แก่จำเลยแต่อย่างใด และอีกประการหนึ่งตามฟ้องของโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยได้รับหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 แต่จำเลยเพิกเฉยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายในกำหนดเวลา และยังคงทำนากุ้งอยู่ในที่ดินที่เช่าตลอดมา ซึ่งข้อความตามฟ้องของโจทก์ในตอนต้นและตอนต่อมาขัดต่อความเป็นจริง เพราะโจทก์อ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาการเช่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 ก่อนที่จะทำสัญญาเช่าซึ่งทำวันที่ 3 สิงหาคม 2526 จึงเป็นไปไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ที่กล่าวว่าได้มอบอำนาจให้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและจัดทำที่ดินที่เช่าให้อยู่ในสภาพเดิมภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา โดยอ้างว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จำเลยขอปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว และโจทก์ก็มิได้แนบหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 มากับสำเนาคำฟ้องที่ส่งให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้น จำเลยก็มิได้ได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาจากโจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยชอบ ตามที่โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลย เมื่อที่ดินพิพาทตามฟ้องมีเพียง ส.ค.1 เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินอีกต่อไป โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันเลิกสัญญาฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท แล้วส่งมอบที่พิพาทคืนแก่โจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่ฟ้อง (วันที่ 17กุมภาพันธ์ 2527) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีทุกเดือนเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของกรมชลประทานที่อนุญาตให้กรมพลาธิการทหารบกใช้เป็นที่ปลูกสร้างอาคารสถานพักฟื้นและพักผ่อน มาตั้งแต่ปี 2514 ปรากฏตามหนังสืออนุญาตให้กรมพลาธิการทหารบกใช้ที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็มชายทะเล เพื่อปลูกสร้างอาคารสถานพักฟื้นและพักผ่อนของกรมพลาธิการทหารบก เอกสารหมาย จ.1 เมื่อครบกำหนด 5 ปี แล้ว พันเอกอำนวยพุกประยูร ผู้อำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบกบางปู ได้ขออนุญาตใช้ที่ดินดังกล่าวต่ออีก กรมชลประทานก็อนุญาตตามหนังสืออนุญาตให้กรมพลาธิการทหารบกใช้ที่ดินของกรมชลประทานเขตคันกั้นน้ำเค็มชายทะเล เพื่อปลูกสร้างอาคารสถานพักฟื้นและพักผ่อนของกรมพลาธิการทหารบก ฉบับที่ 2 เอกสารหมาย จ.2 ในปี 2521จำเลยได้เช่าที่พิพาทเนื้อที่ 50 ไร่ ยอมให้ค่าบริการปีละ 4,000 บาทต่อกรมพลาธิการทหารบกและตกลงว่าหากทางราชการต้องการใช้ที่ดินพิพาทเมื่อใดต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองเดือน ตามบันทึกข้อตกลงในการใช้พื้นที่ทำวังกุ้ง เอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยทำไว้กับพันเอกอำนวย ต่อมาปี 2524 ทางราชการกองทัพบกได้แจ้งให้กรมพลาธิการทหารบกทราบว่า ต้องการใช้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานให้ทหารตำรวจและพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบมาฝึกหัดทำนากุ้งเพื่อเป็นอาชีพต่อไป พันเอกวินิจ เลาหวนิชซึ่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของกรมพลาธิการทหารบกได้สั่งให้บุคคลไปแจ้งให้จำเลยทราบว่า จะเอาที่ดินพิพาทคืน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม พันเอกวินิจจึงทำรายงานเสนอให้กองทัพบกส่งเรื่องไปให้พนักงานอัยการดำเนินการให้ และในปี 2524 นั้นเองทางกรมพลาธิการทหารบกก็ได้ยื่นเรื่องราวขอต่ออายุหนังสืออนุญาตต่อกรมชลประทานอีก อธิบดีกรมชลประทานได้มอบอำนาจให้นายปัญญา ประคองศิลป์ นายช่างหัวหน้าโครงการชลประทานคลองด่านเป็นผู้อนุญาตให้กรมพลาธิการทหารบกใช้ที่ดินนั้นแทนปรากฏตามหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเอกสารหมาย จ.5 และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2525 นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา พนักงานอัยการซึ่งได้รับเรื่องจากกองทัพบกได้ส่งหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทภายในกำหนด 2 เดือนไปยังจำเลย โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับและได้รับใบตอบรับกลับคืนมาโดยมีนายปิ่น งาสุวรรณ ลงชื่อเป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว และในเดือนสิงหาคม 2525 นายณัฐจักรได้ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยโดยจัดส่งทางไปรษณีย์ตอบรับอีกแต่ในครั้งนี้หนังสือดังกล่าวส่งกลับคืนมาโดยในใบตอบรับระบุว่าไม่มีผู้ใดยอมรับและหลังจากนั้นจำเลยก็ยังไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทโจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ระบุชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินประเภทใด จำเลยเช่าตรงส่วนไหน ทิศเหนือทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จดอะไร ทั้งไม่ได้ระบุว่ามีกำหนดระยะเวลาเช่านานเท่าไร โจทก์ไม่ได้แนบหลักฐานทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและสำเนาสัญญาเช่าดังกล่าวมาท้ายฟ้องด้วยทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจคำฟ้องเป็นเหตุให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างผิดหลง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้กล่าวอ้างถึงสิทธิของโจทก์ว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็ม ชายทะเลฝั่งทิศใต้รวมเนื้อที่ 89 ไร่ 3 งาน 1.35 ตารางวา ตำบลบางปูอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานให้ใช้ที่ดินดังกล่าวในกิจการที่เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของกรมพลาธิการทหารบก จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบางส่วนซึ่งอยู่ในความครอบครองดังกล่าวของโจทก์ เนื้อที่ 50 ไร่ โดยให้ค่าเช่าเป็นเงิน 4,000 บาท ต่อปี ถ้ากรมพลาธิการทหารบกต้องการที่ดินดังกล่าวคืนเมื่อใด ให้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนไม่น้อยกว่า2 เดือน ต่อมากรมพลาธิการทหารบกมีความประสงค์จะใช้ที่ดินพิพาทจึงมีหนังสือบอกเลิกการเช่าให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจำเลยไม่ยอมออกไปภายในกำหนด จึงขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้แสดงสิทธิของโจทก์ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและบรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหารวมทั้งคำขอบังคับดังกล่าวด้วย แม้โจทก์จะไม่ระบุว่า ที่ดินที่เช่ามีเขตติดต่ออะไร มีกำหนดเวลาการเช่านานเท่าใด และไม่ได้แนบหลักฐานทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทมาท้ายฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ซึ่งแจ้งชัดอยู่แล้วเป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะรายละเอียดตามที่จำเลยฎีกาเป็นเรื่องที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณาคดี นอกจากนี้จำเลยให้การยอมรับแล้วว่าได้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามหนังสือข้อตกลงในการใช้พื้นที่ทำวังกุ้ง เอกสารหมาย จ.3 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีโฉนด โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่ามายังจำเลยตั้งแต่ วันที่ 22 มิถุนายน 2525 จำเลยยังไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่พิพาทจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน1 ปี จำเลยคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจึงต้องสันนิษฐานว่าจำเลยยึดถือเพื่อตนเป็นการแย่งการครอบครองจากโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้ที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีโฉนด แต่ก็ปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของกรมชลประทานเขตกั้นน้ำเค็ม ชายทะเล จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 เมื่อโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินพิพาทจากกรมชลประทานฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1306 ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share