คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยได้ขายฝากที่ดินพร้อมบ้านไว้แก่โจทก์และไม่ได้ทำการไถ่ถอนการขายฝากปล่อยจนครบกำหนดการไถ่ถอน กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของโจทก์โดยเด็ดขาดจำเลยอุทธรณ์เพียงว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองและสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ไม่ได้อุทธรณ์ว่าสัญญาขายฝากยังไม่ครบกำหนดการไถ่ถอน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยวินิจฉัยว่าสัญญาขายฝากยังไม่ครบกำหนดการไถ่ถอน และจำเลยมีสิทธิที่จะไถ่ถอนการขายฝากได้ จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นที่อุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าจำเลยไม่ได้ขายฝากบ้านส่วนของตนและยังคงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านก็เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นที่อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน โจทก์ซึ่งยื่นคำฟ้องต่อศาลไม่ว่าศาลชั้นใดจะเสียค่าขึ้นศาลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องของโจทก์และศาลเท่านั้นถ้าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลไม่ครบศาลสั่งให้เสียให้ครบได้ ถ้าศาลไม่สั่งให้เสียเพิ่มให้ครบและไม่มีคำสั่งประการอื่นใด คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เสียไป จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในเรื่องนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่4757 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจำเลยทั้งสามได้นำมาขายฝากไว้แก่โจทก์แล้วไม่ไถ่ถอนตามกำหนด โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์แล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4757 และบ้านเลขที่ 227/7 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง)อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปในอัตราเดือนละ 4,000บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาขายฝากที่ทำขึ้นนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะให้มีผลผูกพันตามสัญญาขายฝาก แต่ทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เนื่องจากโจทก์ต้องการหลักประกันที่มั่นคงสัญญาขายฝากจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายาก และการขายฝากก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลา จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทคืนเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ สัญญาขายฝากที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารปลอม ที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่พิพาท และส่งมอบทรัพย์สินที่พิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากที่พิพาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพาทเป็นการพิพากษานอกเหนือจากประเด็นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์นั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่โจทก์และไม่ได้ทำการไถ่ถอนการขายฝากปล่อยจนครบกำหนดการไถ่ถอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์เพียงว่าสัญญาขายฝากทรัพย์พิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองและสัญญาขายฝากเป็นโมฆะไม่ได้อุทธรณ์ว่าสัญญาขายฝากยังไม่ครบกำหนดการไถ่ถอน ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยวินิจฉัยว่าสัญญาขายฝากยังไม่ครบกำหนดการไถ่ถอน และจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิที่จะไถ่ถอนการขายฝากจากโจทก์ได้ จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นที่อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ขายฝากบ้านส่วนของตนและยังคงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทก็เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นที่อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกันไม่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาพึงรับไว้วินิจฉัย ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ทำการไถ่ถอนการขายฝากทรัพย์พิพาทกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์โดยเด็ดขาด เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่ในที่ดินทรัพย์พิพาทจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็อยู่ในที่ดินพิพาทไม่ได้โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ยอมออกไปย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ชอบต่อเหตุผลและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ซึ่งยื่นคำฟ้องต่อศาลไม่ว่าศาลชั้นใดจะเสียค่าขึ้นศาลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องของโจทก์และศาลเท่านั้น ถ้าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลไม่ครบศาลสั่งให้เสียให้ครบได้ ถ้าศาลไม่สั่งให้เสียเพิ่มให้ครบและไม่มีคำสั่งประการอื่นใด คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เสียไป จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในเรื่องนี้ ที่จำเลยที่ 3ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่านิติกรรมขายฝากอำพรางนิติกรรมจำนองนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share