คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3798/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่แจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนซึ่งก็คือจำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศที่ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดืสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนอง คือ ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด นายคีรีวัฒน์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 54309 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ได้ในราคา 2,430,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ไว้เป็นเงิน 3,349,000 บาท แต่ได้ขายทรัพย์ไปในราคา 2,430,000 บาท อันเป็นราคาต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งการประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบ การขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 มิได้อ้างว่าไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดวันใด เมื่อการขายครั้งนี้เป็นการขายครั้งที่ 7 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบการขายทอดตลาด ประกอบกับราคาที่ขายไม่ต่ำเกินสมควรและตามวิธีการขายทอดตลาด จึงเป็นการขายโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนการขาย ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เป็นการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่มีการยื่นอุทธรณ์ ทั้งมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ก็บัญญัติว่าคำสั่งศาลชั้นต้นในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด มิได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 อุทธรณ์หรือฎีกาได้อีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งการประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีจารณาความแพ่ง มาตรา 306 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่แจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนซึ่งก็คือจำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศที่ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share