แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากรให้คืนเงินอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ หรือไม่ก็ตาม จะนำของไปจากอารักขาของศุลกากรก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจนครบถ้วนเสียก่อน เว้นแต่จะได้วางประกันค่าอากรไว้ต่ออธิบดีกรมศุลกากร ตามมาตรา 40 และมาตรา 112 ซึ่งกระทำได้ 2 วิธีคือ วิธีหนึ่งวางเงินไว้เป็นประกัน อีกวิธีหนึ่งนำหนังสือค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคารมาวางเป็นประกัน
ในการวางเงินเป็นประกัน ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้ทราบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และเงินประกันที่วางไว้คุ้มค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินแล้ว ก็ให้เก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ทันที และให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าได้ชำระเงินอากรที่ได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสอง
กรณีการนำหนังสือค้ำประกันของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารมาวางเป็นประกันมิได้มีบทบัญญัติมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินแจ้งให้ทราบแล้วภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ค้ำประกันได้ทันที และให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าได้ชำระเงินอากรที่ได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนดข้างต้นแล้ว
จำเลยนำของเข้ามาผลิต ผสม หรือประกอบ เพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศเพื่อขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปวางเป็นประกันและรับของมาจากศุลกากรยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว การที่ศุลกากรปล่อยหรือมอบของให้จำเลยมาโดยยอมรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันก็เป็นเพียงผ่อนผันการชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยมิได้ผลิตผสมหรือประกอบของที่นำเข้ามาส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนอากรขาเข้าตามมาตรา 19 ทวิ(ง) และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำอากรขาเข้าตามที่เจ้าหน้าที่ได้ประเมินไว้ไปชำระมิใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องติดตามทวงถามให้จำเลยชำระค่าอากรดังกล่าว และตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดีมิได้กำหนดระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรขาเข้าเมื่อใดก็ได้ ภายในอายุความเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรที่ต้องเสียก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา
สำหรับภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคท้ายได้บัญญัติไว้ว่า เงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89 ซึ่งคำว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้หมายความว่าเงินเพิ่มที่คิดร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระไม่ว่าจะเป็นเงินเพิ่มที่คิดก่อนหรือภายหลังนำเงินที่วางประกันหรือที่ผู้ค้ำประกันมาหักเมื่อรวมแล้วเงินเพิ่มจะต้องไม่เกินเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2518 จำเลยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ต่อโจทก์ที่ 1 ขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ ว่าจำเลยจะนำวัตถุดิบประเภทชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุชิ้นส่วนเครื่องคิดเลข เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อผลิต ผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นเครื่องรับวิทยุและเครื่องคิดเลขส่งออกไปยังเมืองท่าต่างประเทศหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองท่าต่างประเทศและโจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติตามความประสงค์ของจำเลยแล้ว ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2519 และวันที่ 30 มิถุนายน 2519 จำเลยได้นำสินค้าประเภทดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรรวมสองคราวคราวแรกจำนวน19 หีบห่อปริมาณ 40,600 ชิ้น จากประเทศไต้หวัน และคราวที่สองจำนวน 1 หีบห่อปริมาณ 2,000 ชิ้น จากฮ่องกง โดยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบรายการการค้าเลขที่ 069 – 3286 และ 079 -0304 ว่าจำเลยจะต้องเสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลรวม 826,423.13 บาท และ 36,660.60 บาท และจำเลยได้ใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารศรีนครจำกัดแทนการชำระภาษีอากรภายในวงเงิน 980,000 บาท และ 45,000 บาทตามลำดับ โจทก์ที่ 1 จึงตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนสินค้าดังกล่าวให้จำเลยรับไปแล้วตั้งแต่วันที่28 มิถุนายน 2519 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2519 ครั้นต่อมาจำเลยมิได้นำสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าวไปใช้ในการผลิตผสมประกอบหรือบรรจุส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งไปเป็นสินค้าประเภทสิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองท่าต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้คืนเงินอากรขาเข้าทั้งสองคราวและจำเลยจะต้องชำระค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแต่ละคราวสำหรับสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน 826,423.13 บาท และ 36,660.60 บาท ตามลำดับกับเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 จัตวา เงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา89 ทวิ และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยแต่ละคราว จนถึงวันที่ธนาคารศรีนคร จำกัด นำเงินประกันมาชำระให้โจทก์รวมเป็นเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลรวมกับเงินเพิ่มอากรและภาษีดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น 1,446,240.48 บาทกับ 52,791.12 บาท และธนาคารศรีนคร จำกัด ได้ชำระค่าภาษีอากรแทนจำเลยแล้วตามหนังสือค้ำประกัน แต่ยังไม่คุ้มค่าภาษีที่จำเลยจะต้องชำระ จำเลยยังคงค้างชำระภาษีอากรเพิ่มเติมอีก466,240.48 บาท กับ 7,791.11 บาท แต่จำเลยไม่ชำระให้โจทก์ที่ 1จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา เงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ กับเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงินทั้งสิ้น 214,470.61 บาท กับ 5,921.24 บาท จึงขอให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มคิดถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 694,423.44 บาท ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จากจำนวนอากรขาเข้าที่ค้างชำระอยู่ 475,032.84 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระอากรขาเข้าให้โจทก์ครบ ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของจำนวนภาษีการค้าที่ค้างอยู่จำนวน 199,447.05 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้าที่ต้องชำระทั้งหมด
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในกรณีที่ผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากรให้คืนเงินอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 19 ทวิ หรือไม่ก็ตาม จะนำของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจนครบถ้วนเสียก่อน เว้นแต่จะได้วางประกันค่าอากรไว้ต่ออธิบดีกรมศุลกากร ตามมาตรา 40 และมาตรา 112 ในการวางเงินเป็นประกัน ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้ทราบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งและเงินประกันที่วางไว้คุ้มค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วก็ให้เก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ทันที และให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าได้ชำระเงินอากรที่ได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วตามมาตรา 112 ทวิ วรรค 2 แต่การนำหนังสือค้ำประกันของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารมาวางเป็นประกันมิได้มีบทบัญญัติมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินแจ้งให้ทราบแล้วภายในกำหนด30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ก็ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ค้ำประกันได้ทันทีและให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าได้ชำระเงินอากรที่ได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนดข้างต้นแล้ว ดังนั้นในกรณีนี้จำเลยผู้นำของเข้ามาผลิต ผสม หรือประกอบ เพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศ ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารศรีนคร จำกัด ไปวางเป็นประกันและรับของมาจากศุลกากรยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระค่าอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้วการที่ศุลกากรปล่อยหรือมอบของให้จำเลยมาโดยยอมรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารศรีนคร จำกัด เป็นประกันก็เป็นเพียงผ่อนผันการชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยมิได้ผลิต ผสม หรือประกอบของที่นำเข้ามาส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ทวิ (ง) จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนอากรขาเข้าตามมาตราดังกล่าวและเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำอากรขาเข้า ตามที่เจ้าหน้าที่ได้ประเมินไว้ไปชำระ มิใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องติดตามทวงถามให้จำเลยชำระค่าอากรดังกล่าว และตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดีมิได้กำหนดระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด ดังนั้นเจ้าหน้าที่ประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรขาเข้าเมื่อใดก็ได้ ภายในอายุความ เมื่อจำเลยไม่ชำรค่าอากรที่ต้องเสีย ก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา
อนึ่ง สำหรับภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคท้ายได้บัญญัติไว้ว่า เงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89 ซึ่งคำว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้ หมายความว่า เงินเพิ่มที่คิดร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระไม่ว่าจะเป็นเงินเพิ่มที่คิดก่อนหรือภายหลังนำเงินที่วางประกันหรือที่มีผู้ค้ำประกันมาหักเมื่อรวมแล้วเงินเพิ่มจะต้องไม่เกินเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระซึ่งคิดไว้ถูกต้องแล้วตอนรับของไปจากศุลกากรในคดีนี้ แต่โจทก์คิดเงินเพิ่มภาษีการค้าเกินกว่าภาษีการค้าที่จำเลยจะต้องชำระซึ่งจำเลยจะต้องชำระในการนำของเข้างวดแรกเป็นเงินทั้งสิ้น 671,747.72 บาทและงวดที่สองเป็นเงินทั้งสิ้น 13,339.74 บาท รวมเป็นเงินเพิ่มอากรขาเข้าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยจะต้องชำระในการนำของเข้าทั้งสองงวดเป็นเงิน 685,087.46 บาท เมื่อโจทก์คิดเงินภาษีอากรคลาดเคลื่อนไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีอากรรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 685,087.46 บาท และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในการนำของเข้ามางวดแรกในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จากจำนวนอากรขาเข้าที่ค้างชำระอยู่ 325,364.96 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระอากรขาเข้าให้โจทก์ครบ คำขอนอกจากนี้ให้ยก