คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3788/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเสียภาษีอากรขาเข้าสำหรับสินค้าของโจทก์ต้องเป็นไปตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503บัญชีพิกัดอัตราอากรขาเข้า ท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วกำหนดสินค้ารถบรรทุก ชนิดพิคอับไว้ในประเภทที่87.02ค.(2) ให้ต้องเสียอากรขาเข้า ร้อยละ 80 เมื่อโจทก์นำรถบรรทุกชนิดพิคอับเข้ามาจึงต้องเสีย ค่าภาษีตามประเภทและอัตราที่กฎหมายกำหนดมิใช่เสียค่าภาษี ตามประกาศของอธิบดีกรมศุลกากร
โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าโดยสำแดงประเภทของและเกณฑ์ปริมาณที่ต้องใช้ในการเก็บอากรให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่จำแนกและกำหนดไว้ในพิกัดอัตราอากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรหากแสดงไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้องมิให้ถือว่าบริบูรณ์จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บส่วนที่ขาด ให้ครบเต็มจำนวนได้ตามกฎหมายจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งรถยนต์พิคอับจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อเรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ โจทก์ทำใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อชำระภาษีต่อจำเลยในพิกัดประเภทที่ 87.02 ข.(2)ในอัตราร้อยละ 40 ของราคาสินค้า กับได้ชำระภาษีและจำหน่ายสินค้าไปหมดแล้วต่อมาจำเลยแจ้งให้โจทก์เสียค่าภาษีเพิ่มอีก อ้างว่าโจทก์แสดงพิกัดอัตราศุลกากรคลาดเคลื่อนโดยสินค้าของโจทก์จะต้องเสียภาษีตามพิกัดประเภทที่ 87.02 (2)ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาสินค้า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจ้งโจทก์ว่าอธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะตีความในพิกัดอัตราอากรได้ ซึ่งไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะเรือบรรทุกสินค้าของโจทก์มาถึงท่าเรือกรุงเทพเวลา 5.30 น. ของวันที่ 11 มิถุนายน 2523 อยู่ภายใต้บังคับคำวินิจฉัยพิกัดอัตราว่าเป็นสินค้าประเภทที่ 87.02 ข.(2) ส่วนคำวินิจฉัยพิกัดอัตราที่ว่าเป็นสินค้าประเภทที่ 87.02 ค.(2) ยังไม่มีผลบังคับใช้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมหรือให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่ากับจำนวนค่าภาษีอากรที่เรียกจากโจทก์โดยหักกลบลบหนี้กัน
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2523 ได้มีประกาศกรมศุลกากรเรื่องแจ้งอัตราอากรออกใช้บังคับ โดยมีคำวินิจฉัยพิกัดอัตราที่ ป.อ.100/2523ของอธิบดีกรมศุลกากรว่า สินค้ารถยนต์ชนิดพิคอับจัดเข้าพิกัดประเภทที่ 87.02 ค(2)และยกเลิกคำวินิจฉัยที่ 102/2508 ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วินาทีแรกของวันที่ 11 มิถุนายน 2523 ต้องเสียภาษีอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 80 อย่างไรก็ดีแม้อธิบดีกรมศุลกากรจะไม่ตีความให้รถยนต์พิคอับอยู่ในพิกัดประเภทที่ 87.02 ค.(2)เมื่อเป็นรถยนต์ชนิดพิคอับ โจทก์ก็ต้องชำระค่าภาษีอากรตามพิกัดอัตราอากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พงศ. 2503 ที่แก้ไขแล้ว ในพิกัดประเภทที่ 87.02(2) อัตราร้อยละ 80 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท คำวินิจฉัยพิกัดอัตราที่ 102/2508เป็นเพียงการตีความของอธิบดีกรมศุลกากร ไม่มีผลลบล้างพระราชกำหนดดังกล่าวจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามคำสั่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเสียค่าภาษีนั้นกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ความว่า “บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร” นอกจากนี้พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ของที่นำหรือพาเข้ามาในหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียภาษีอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราอากรแนบท้ายพระราชกำหนดนี้”การเสียอากรขาเข้าของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าบัญชีพิกัดอัตราอากรขาเข้าท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ที่แก้ไขเพิ่มเติมที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35)พ.ศ. 2521 กำหนดสินค้ารถบรรทุกชนิดพิคอับไว้ในประเภทที่ 87.02 ค.(2)ให้ต้องเสียอากรขาเข้าร้อยละ 80 เมื่อโจทก์นำรถบรรทุกชนิดพิคอับเข้ามาจึงต้องเสียค่าภาษีตามประเภทและอัตราที่กฎหมายกำหนด มิใช่เสียค่าภาษีตามประกาศของอธิบดีกรมศุลกากร ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ถ้าโจทก์จะต้องเสียค่าภาษีในพิกัดประเภทที่ 87.02 ค.(2)แล้ว ย่อมเกิดจากการทำละเมิดของจำเลย เพราะโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ขายสินค้าไปหมดแล้ว ไม่อาจเรียกค่าภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้วมาได้อีกนั้น เห็นว่าการกระทำอันจะเป็นมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นั้น จะต้องทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย โจทก์เป็นผู้ละเมิดกฎหมายโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับ เพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องสำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าโดยสำแดงประเภทของและเกณฑ์ปริมาณที่ต้องใช้ในการเก็บอากรให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่จำแนกและกำหนดไว้ในพิกัดอัตราอากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 หากแสดงไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้องมิให้ถือว่าบริบูรณ์ จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บส่วนที่ขาดให้ครบเต็มจำนวนได้ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวรับรองและคุ้มครองสิทธิให้จำเลยกระทำได้โดยชอบ ไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ และไม่มีหนี้ที่จะนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าภาษีที่โจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระให้ครบถ้วนตามกฎหมายดังคำแก้ฎีกาของโจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share