คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา ในวันนัด ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 9.25 นาฬิกา โจทก์ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีโจทก์ ต่อมา โจทก์ยื่นคำร้องว่า วันนัดสืบพยานทนายโจทก์ป่วยได้มอบให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลเมื่อเวลา 9.25 นาฬิกา ที่มาถึงศาลช้ากว่าเวลานัดเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ประกอบทั้งทนายโจทก์และเสมียนทนายเข้าใจเรื่องเวลานัดของศาลผิดไปว่าเป็นเวลา 9.30 นาฬิกา ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนและยกคำร้องของโจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะหากเป็นจริงตามคำร้องของโจทก์ กรณีก็ยังไม่ถนัดที่จะถือว่าโจทก์มิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลก่อนลงมือสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง และหากฟังได้ว่าทนายโจทก์ป่วยจริง ก็เป็นเหตุที่ศาลต้องให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดจำนวน ๑๐ แปลง ซึ่งบางส่วนเนื้อที่ ๑๓๔.๗ ตารางวาอยู่ในแนวเขตที่จะถูกเวนคืนตามประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น ๕๒๗,๙๐๐ บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่เป็นธรรมและทำให้โจทก์เสียหายเพราะที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดตารางวาละ ๓๐,๐๐๐ บาท คิดเป็นเงินที่โจทก์ควรจะได้รับ ๒,๐๒๐,๕๐๐ บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยแล้ว ๕๒๗,๙๐๐ บาท ยังขาดอีก ๑,๔๙๒,๖๐๐ บาท จึงฟ้องให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๑,๖๐๔,๕๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดให้โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดไม่ว่าจะเป็นโดยส่วนตัวหรือโดยตำแหน่งหน้าที่
ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๘ เวลา ๙ นาฬิกา
เมื่อถึงวันนัดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีเวลา ๙.๒๕ นาฬิกา ทนายจำเลยมาศาล ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลศาลจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีจากสารบทความตามคำแถลงของจำเลย
วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๘ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๘ นั้น ทนายโจทก์ป่วยได้มอบให้นายสาโรช พัฒนราชเสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาล แต่นายสาโรชเดินทางมาถึงศาลเมื่อเวลา ๙.๒๕ นาฬิกา ปรากฏเวลาที่นายสาโรชยื่นคำร้องตามที่เจ้าพนักงานลงไว้ในคำร้องซึ่งช้ากว่าเวลานัดเพราะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากรถยนต์ของนายสาโรชเลี้ยวชนกับรถจักรยานยนต์ ประกอบกับทนายโจทก์และนายสาโรชเข้าใจว่าศาลนัดพิจารณาเวลา ๙.๓๐ นาฬิกา ขอให้ศาลไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำหน่ายคดี
ศาลชั้นต้นส่งนัดไต่สวนคำร้องของโจกท์ แต่เมื่อถึงวันนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวน และมีคำสั่งให้ยกคำร้องโจทก์โดยเหตุผลว่าการเข้าใจผิดในเรื่องเวลานัดเป็นเรื่องของโจทก์เอง ส่วนเรื่องอุบัติเหตุเสมียนทนายก็น่าจะขวนขวายหาทางแจ้งให้ศาลทราบก่อน ประกอบกับคำสั่งขาดนัดชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ แล้ว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ตามคำร้องของโจทก์อ้างว่านายสาโรชเสมียนทนายไปถึงศาลและยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อเจ้าพนักงานศาลเมื่อเวลา ๙.๒๕ นาฬิกา ตรงกับเวลาที่ศาลออกนั่งพิจารณา ซึ่งถ้าหากเป็นจริงตามคำร้องของโจทก์ กรณียังไม่ถนัดที่จะถือได้ว่าโจทก์มิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๗ วรรคสอง ประกอบกับการขอเลื่อนคดีของโจทก์นั้น อ้างว่าทนายโจทก์ป่วย ซึ่งหากฟังได้ว่าทนายโจทก์ป่วยจริงในวันดังกล่าวก็เป็นเหตุที่ศาลชอบที่จะต้องให้เลื่อนการพิจารณคดีไปตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๐ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของโจกท์ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share