คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ กรรมสิทธิ์โอนโดยไม่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ มาตรา13 ผู้ขายมีอาชีพซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มา 8-9 ปี ตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีรถยนต์ในร้าน 30 คันบริเวณใกล้เคียงมีร้านบริการซื้อขายรถยนต์หลายสิบร้านถือได้ว่าเป็นพ่อค้าหรือท้องตลาดผู้ซื้อรถตกลงกับผู้ขายในสำนักงานของผู้ซื้อแล้วให้ผู้เช่าซื้อไปรับรถจากร้านของผู้ขายแทนผู้ซื้อผู้ซื้อไม่ต้องคืนรถแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่จะได้รับใช้ราคาที่ซื้อ เจ้าของเอารถนั้นไปจากผู้เช่าซื้อโดยผู้ซื้อไม่ยินยอมเจ้าของต้องคืนรถแก่ผู้ซื้อ แต่ไม่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ซื้อที่จะต้องโอนทะเบียนให้เป็นของผู้ซื้ออันเป็นการเกินคำขอในฟ้องอีกด้วย

ย่อยาว

รถยนต์ ก.ท.จ. 4101 ของโจทก์ จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์ แล้วปลอมชื่อกรรมการบริษัทโจทก์โอนไปเป็นของจำเลยที่ 3 โอนขายแก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5ให้เช่าซื้อต่อไป โจทก์ติดตามรถคืนมาจากผู้เช่าซื้อนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ที่ปลอม ให้ใบอนุญาตเป็นของโจทก์ตามเดิมให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์แก่จำเลยที่ 5 ตามฟ้องแย้ง และโอนทะเบียนเป็นของจำเลยที่ 5 หากจัดการไม่ได้ ให้โจทก์ใช้เงิน 86,000 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 ใช้ค่าเสียหาย 86,000 บาท แก่โจทก์จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมด้วย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 นอกจากนี้เป็นไปตามศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยที่ 5, 6 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 ไม่ได้ร่วมทำผิดด้วย คงมีปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อต่อมาตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 5 ซื้อรถยนต์พิพาทจากพ่อค้าขายของชนิดนั้นหรือในท้องตลาดโดยสุจริต อันจะพึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 หรือไม่

จำเลยที่ 5 มีนายวิลเลี่ยม แมสสัน คัมมิ่ง ซิม กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 5 นายวิสารท อังคทะวานิช นายภิญโญ เกียรติภิญโญ และนายไพรัชสุขไพศาล เป็นพยานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการ ซึ่งมีนายวิสารทอังคทะวานิช เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ขายรถยนต์คันพิพาทให้จำเลยที่ 5 ในราคา 86,000 บาท โดยเดิมนายแสงชัยจำเลยที่ 3 ได้ขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่ร้านเล็กบริการ ในราคา 54,000 บาท และได้ลงชื่อไว้ในคำขอโอน เอกสารหมาย จ.23 ด้านหน้าในช่องผู้โอนและด้านหลังเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 3ได้ลงชื่อไว้อีก 2 แห่งในฐานะเป็นผู้ขายและในฐานะผู้มอบให้ไปโอน จำเลยที่ 3ลงชื่อไว้โดยยังมิได้กรอกข้อความ แต่ได้มอบทะเบียนรถยนต์นั้นไว้แก่นายไพฑูรย์เจ้าของร้านเล็กบริการ ต่อมานายอุดม วรพฤกษ์กิจ ต้องการซื้อรถยนต์คันพิพาทจากร้านเล็กบริการ (ห้างหุ้นส่วนจำกัดเล็กบริการ) โดยวิธีเช่าซื้อ แต่ร้านเล็กบริการจะขายเงินสด ได้แนะนำนายอุดมให้มาติดต่อกับนายวิสารท อังคทะวานิชนายวิสารทจึงซื้อรถยนต์คันพิพาทจากร้านเล็กบริการมาในราคา 58,000 บาท เพื่อจะขายให้นายอุดม โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ด้วยแต่เงินหมุนเวียนของนายวิสารทมีไม่พอ ไม่อาจให้นายอุดมเช่าซื้อได้ จึงขายรถนั้นให้จำเลยที่ 5 ในราคา 86,000 บาท แล้วแนะนำให้นายอุดมไปเช่าซื้อจากจำเลยที่ 5 ในการทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวนายวิสารทเป็นคนกรอกข้อความในคำเสนอขอเช่าซื้อและลงชื่อเป็นผู้เขียนและพยาน ตอนซื้อจากร้านเล็กบริการและขายให้จำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ นายวิสารทได้ส่งหลักฐานให้จำเลยที่ 5 รวมทั้งหลักฐานการที่ร้านเล็กบริการซื้อรถยนต์คันพิพาทมา จำเลยที่ 5 ยอมให้นายอุดมเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวนายวิสารทเป็นผู้จัดการโอนทะเบียนรถพิพาทจากนายแสงชัยจำเลยที่ 3 ไปเป็นของจำเลยที่ 5 โดยนายไพรัช สุขไพศาล คนงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการเป็นผู้กรอกข้อความในเรื่องราวขอโอน คือเอกสารหมาย จ.23 ที่เขียนไว้ว่าซื้อรถพิพาทในราคา 5,000 บาท เพื่อให้โอนได้และเพื่อหลีกเลี่ยงเสียเงินค่าอากรแสตมป์มาก ๆ ไม่ใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริง โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานหักล้าง ทั้งนายอุดม วรพฤกษ์กิจ พยานโจทก์ก็เบิกความรับว่าได้ติดต่อเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการ และห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการเป็นคนจัดการทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างนายอุดมกับบริษัทจำเลยที่ 5 อนึ่ง ได้ความจากคำเบิกความของนายวิสารท อังคทะวานิช ว่า นายวิสารทมีอาชีพรับซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่ โดยได้รับใบอนุญาตจากกรมตำรวจ ทำอาชีพนี้มาประมาณ 8-9 ปีแล้ว จัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการ มีรถยนต์ที่ทำการซื้อขายในร้านประมาณ 30 คัน ตั้งห้างอยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ บริเวณใกล้เคียงกันมีร้านบริการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เช่นเดียวกันอยู่หลายสิบร้าน ถือได้ว่าเป็นท้องตลาดสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 5 ซื้อรถยนต์พิพาทจากพ่อค้าขายของชนิดนั้นหรือในท้องตลาดโดยสุจริต ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว จำเลยที่ 5 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 คือไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้นายวิสารทมิได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 หากแต่นายวิสารทประกอบกิจการค้าร่วมกับจำเลยที่ 5 ขายรถยนต์ให้แก่นายอุดมลูกค้า โดยนายอุดมทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 5 โดยนายวิสารทเป็นคนจัดการแทนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า วิธีการดังที่ปรากฏจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 5 นำสืบนั้นเป็นการเอื้อเฟื้อกันในการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการกับจำเลยที่ 5 เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำในฐานะตัวการตัวแทนหรือประกอบกิจการค้าร่วมกัน ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1515/2516 ของศาลแพ่งนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารหมาย ล.2 แสดงว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการได้ขายรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 5 ในราคา 86,000 บาท การที่จำเลยที่ 5 ยอมทำสัญญาให้นายอุดมเช่าซื้อรถยนต์นั้นก็แสดงว่า จำเลยที่ 5 ซื้อแล้วจึงได้ให้นายอุดมเช่าซื้อต่อไป การซื้อขายรถยนต์นั้นเพียงแต่คู่สัญญาตกลงซื้อขายกันก็สมบูรณ์ เป็นสัญญาซื้อขายอันเป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์โอนไปแล้ว มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ที่โจทก์อ้างเป็นบทบัญญัติเพื่อความสะดวกแก่การควบคุมของเจ้าพนักงาน ทะเบียนรถยนต์มิใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแพ่ง เอกสารหมาย ล.2 ประกอบกับเอกสารหมาย ล.4 ในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวแสดงว่านายวิสารทซื้อรถยนต์จากนายไพฑูรย์แห่งร้านเล็กบริการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2515 ตามเอกสารหมาย ล.4 แล้วขายให้จำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 ตามเอกสารหมาย ล.2 ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการ พร้อมกับแนบคำเสนอขอเช่าซื้อของนายอุดมไปด้วย ตามเอกสารหมาย ล.3 พร้อมทั้งสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 5 ตกลงให้นายอุดมเช่าซื้อตามคำเสนอขอซื้อ จึงลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อในฐานะเจ้าของดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 5 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการถูกต้องแล้ว และให้นายอุดมเช่าซื้อไปในวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 นั้น ทั้งในคดีหมายเลขดำที่ 1515/2516 ของศาลแพ่งยังมีเอกสารซึ่งนายไพฑูรย์ เทศอ่ำ ส่งศาลแสดงว่า นายไพฑูรย์ เทศอ่ำ เจ้าของร้านเล็กบริการได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากนายแสงชัยไว้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2515 ในราคา 54,000 บาทประกอบด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 5 ซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้ขายรถยนต์เป็นอาชีพในท้องตลาดโดยสุจริต ที่โจทก์ฎีกาว่านายวิสารทเสนอขาย จำเลยที่ 5 สนองรับ สัญญาซื้อขายหากจะเกิดขึ้นจริงก็เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 5 เป็นการซื้อขายระหว่างบุคคลมิใช่ซื้อในท้องตลาดดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะนายอุดมผู้เช่าซื้อได้รับรถยนต์ไปจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสารทยนต์บริการในฐานะผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 5 เป็นการรับมอบไปในฐานะที่จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 ยอมมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขย่อมเรียกคืนไม่ได้นั้น ขัดกับพยานเอกสาร กล่าวคือตามเอกสารหมาย ล.1 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2515 จำเลยที่ 5 ได้เรียกร้องให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยที่ 5 หรือผู้เช่าของจำเลยที่ 5 แล้ว แต่โจทก์ได้ตอบปฏิเสธไม่ยอมคืนให้แก่จำเลยที่ 5 หรือลูกค้าของจำเลยที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1515/2516 จะว่าจำเลยที่ 5 ยอมมอบคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขได้อย่างไร

โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การที่ศาลพิพากษาให้โจทก์โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามฟ้องแย้งทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 5 มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกันอันจะทำให้โจทก์มีหน้าที่โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 5

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 มีเพียงว่า ขอให้ศาลบังคับให้โจทก์คืนรถยนต์รายพิพาทในสภาพที่สมบูรณ์ใช้การได้ดีให้จำเลยที่ 5 ถ้าคืนไม่ได้ขอให้โจทก์ใช้ราคารถ 86,000 บาท ให้จำเลยที่ 5 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้จำเลยที่ 5 เท่านั้น มิได้ขอบังคับให้โจทก์โอนทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 5 ด้วย ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งนายทะเบียนยานพาหนะนครหลวงกรุงเทพธนบุรีคัดให้ใหม่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2515 ฉบับที่ ถ.134294 และการโอนทางทะเบียนจากบริษัทโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 จากจำเลยที่ 4 ไปให้แก่จำเลยที่ 3 และจากจำเลยที่ 3ไปให้แก่จำเลยที่ 5 พร้อมทั้งใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ที่ออกให้เนื่องจากการโอนนั้น ๆ เสีย โดยให้ทะเบียนรถยนต์กับพิพาทเป็นของโจทก์ตามเดิม การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์โอนทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาด้วย แต่ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขอย่างใดในข้อนี้ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 5 ก็มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในอันที่จะให้ศาลบังคับเช่นนั้น”

พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และให้โจทก์คืนรถยนต์รายพิพาทแก่จำเลยที่ 5 ในสภาพสมบูรณ์ใช้การได้ดี ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาที่จำเลยที่ 5ซื้อมา 86,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องแย้ง

Share