แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ ผ. ชำระค่าปรับตามสัญญารับรองการขออนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวแก่โจทก์ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2537 ผ. เพิกเฉยไม่ชำระถือว่า ผ. เป็นฝ่ายผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31มีนาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ ผ. ผิดนัดโดยเป็นผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิไว้ในหนังสือแจ้งให้ ผ. ชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของ ผ. จึงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ ผ. มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ ผ. ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินของ ผ. ทุกชนิด ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกันกับ ผ. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกในฐานะทายาทโดยธรรม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ ผ. ต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ ผ. ผิดนัดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่โจทก์แจ้งจึงไม่ชอบ เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2533 และปลายเดือนพฤษภาคม2533 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2534 วันใดไม่ปรากฏชัด สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจวแจ้งเรื่องนายไช่ อี้ ชั่ง และนางหรือนางสาวเจิ้ง เหว่ย หลิง หรือเชิง เว่น หลิง มีภูมิลำเนาอยู่มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือหนังสือเดินทางสาธารณรัฐประชาชนจีนขออนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อให้โจทก์พิจารณาพร้อมกับแนบคำร้องขอตรวจลงตราของบุคคลต่างด้าว ซึ่งระบุชื่อ นายผดุงศักดิ์ เอื้อมงคลการเป็นผู้ค้ำประกันในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 14 มิถุนายน2534 นายผดุงศักดิ์ได้ทำบันทึกรับรองบุคคลทั้งสองต่อโจทก์ว่า เมื่อบุคคลทั้งสองเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว นายผดุงศักดิ์จะเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบบุคคลทั้งสองและในกรณีการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของบุคคลทั้งสองสิ้นสุดลงนายผดุงศักดิ์จะจัดการส่งบุคคลทั้งสองเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดทันทีและจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทุกประการ หากผิดเงื่อนไขนายผดุงศักดิ์ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินรายละ 20,000บาท กับยินยอมชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทน ซึ่งจากการรับรองโจทก์ได้พิจารณาอนุญาตให้บุคคลทั้งสองเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต่อมาเมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 บุคคลทั้งสองได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามลำดับ ซึ่งนายไช่ อี้ ชั่ง ได้รับอนุญาตให้อยู่ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม2533 และนางหรือนางสาวเจิ้ง เหว่ย หลิง ได้รับอนุญาตให้อยู่ถึงวันที่ 22 กันยายน2534 ต่อมาปรากฏว่าบุคคลทั้งสองอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจึงถูกดำเนินคดีและได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปแล้ว กรณีดังกล่าวถือว่านายผดุงศักดิ์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามบันทึกรับรอง ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้นายผดุงศักดิ์นำเงินค่าปรับจำนวน 40,000 บาท มาชำระแก่โจทก์แล้ว แต่นายผดุงศักดิ์เพิกเฉย ต่อมานายผดุงศักดิ์ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมและไม่มีผู้จัดการมรดก โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายผดุงศักดิ์นำเงินค่าปรับไปชำระแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 53,352บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้รับคำรับรองไม่ปรากฏว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นายผดุงศักดิ์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งบันทึกคำรับรองมิได้กำหนดวันที่บุคคลต่างด้าวทั้งสองต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่เคยมีคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองให้นายผดุงศักดิ์จัดการส่งตัวนายไช่อี้ ชั่ง และนางสาวเจิ้น เหว่ย หลิง เดินทางออกนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดวันใดและโจทก์ดำเนินคดีและปรับบุคคลทั้งสองแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิปรับนายผดุงศักดิ์อีกนอกจากนี้นายผดุงศักดิ์ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนการพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 นับแต่เมื่อใด ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า นายผดุงศักดิ์ เอื้อมงคลการ ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามบันทึกการรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 โดยไม่จัดการส่งตัวนายไช่ อี้ ชั่งและนางหรือนางสาวเจิ้ง เหว่ย หลิง บุคคลต่างด้าวทั้งสองที่นายผดุงศักดิ์เป็นผู้รับรองออกนอกราชอาณาจักรไทย เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว และโจทก์แจ้งให้นายผดุงศักดิ์ชำระค่าปรับดังกล่าวแก่โจทก์ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2537 แต่นายผดุงศักดิ์เพิกเฉยไม่ชำระต่อมาโจทก์ทราบว่านายผดุงศักดิ์ถึงแก่ความตายโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายผดุงศักดิ์ โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทของนายผดุงศักดิ์ชำระเงินค่าปรับข้างต้นแก่โจทก์ภายในวันที่ 25 มิถุนายน2541 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉยไม่ชำระ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ชำระเงิน 30,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งให้นายผดุงศักดิ์ชำระค่าปรับแก่โจทก์ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2537นายผดุงศักดิ์เพิกเฉยไม่ชำระถือว่านายผดุงศักดิ์เป็นฝ่ายผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม2537 เป็นต้นไป หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่นายผดุงศักดิ์ผิดนัดโดยเป็นผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิไว้ในหนังสือแจ้งให้นายผดุงศักดิ์ชำระเงินแก่โจทก์ นายผดุงศักดิ์ต้องรับผิดมีหน้าที่ต้องใช้เงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของนายผดุงศักดิ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของนายผดุงศักดิ์ มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตกทอดของนายผดุงศักดิ์ตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินของนายผดุงศักดิ์ผู้ตายทุกชนิด ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ ที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว ไม่เป็นการเฉพาะตัวผู้ตายโดยแท้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกันกับนายผดุงศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้ามรดกในฐานะทายาทโดยธรรม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากต้นเงินที่นายผดุงศักดิ์ต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่นายผดุงศักดิ์ผิดนัดจากจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่โจทก์แจ้งไม่ชอบ เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตน คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกายังไม่เห็นฟ้องด้วยทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยให้คิดแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น