คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องประดับจำพวกตุ้มหู สร้อย แหวน ทำด้วยเงินราคาต่ำสุดคู่ละ 7 บาท สูงสุดคู่ละ 25 บาท เป็นเพียงเครื่องประดับทำด้วยเงินมีราคาต่ำ จึงเป็นของธรรมดาทั่ว ๆ ไป เท่านั้นถึงแม้จะมีจำนวนมากและรวมจำนวนกันแล้วมีราคา52,200 บาท ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์โดยสารรถยนต์ปรับอากาศของจำเลยที่ 1 เพื่อเดินทางไปจังหวัดหนองคาย โจทก์ฝากกระเป๋าเดินทาง 2 ใบ ให้พนักงานของจำเลยที่ 1เก็บรักษาไว้ระหว่างเดินทางและแจ้งพนักงานประจำรถของจำเลยที่ 1 ให้รักษากระเป๋าดังกล่าวให้รอบคอบเพราะมีสินค้าบรรจุอยู่ พนักงานของจำเลยที่ 1 ออกใบรับฝากกระเป๋าให้โจทก์ เมื่อเดินทางถึงจังหวัดหนองคาย จึงทราบว่ากระเป๋าบรรจุสินค้าของโจทก์หายไป 1 ใบ ในกระเป๋านี้มีสินค้าคือ ตุ้มหู สร้อยข้อมือ แหวน และสร้อยข้อเท้ารวมราคา 52,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้สินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถชดใช้ได้ก็ให้ร่วมกันชดใช้ราคา 52,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์มิได้บอกราคาหรือสภาพแห่งของมีค่าไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ของที่โจทก์อ้างว่าสูญหายเป็นอัญมณี จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ของตามฟ้องเป็นของมีค่าประเภทเงินทอง หรืออัญมณีหรือของมีค่าอย่างอื่นซึ่งโจทก์มิได้แจ้งราคาหรือสภาพให้จำเลยที่ 1 ทราบการสูญหายมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย52,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ของตามฟ้องเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 ซึ่งโจทก์ต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะส่งมอบหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ส่งมอบของตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1ต่อมาของดังกล่าวสูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1ของดังกล่าวเป็นประเภทเครื่องประดับ ทำด้วยเงินมีราคาถูกราคาต่ำสุดคู่ละ 7 บาท ราคาสูงสุดคู่ละ 25 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า”ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตรตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณีและของมีค่าอย่างอื่น ๆ หากมิได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตน” คำว่า “ของมีค่าอย่างอื่น ๆ”ตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตราธนบัตรธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าหรืออัญมณีของดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องประดับทำด้วยเงินมีราคาต่ำ จึงเป็นของธรรมดาทั่ว ๆ ไปเท่านั้นถึงแม้จะมีจำนวนมากและรวมจำนวนกันแล้วมีราคา 52,200 บาทซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่น ๆ ตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงไม่จำต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1
พิพากษายืน

Share